นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค.) น้ำทะเลจะหนุนสูงมาก และจะไปสูงที่สุดในวันที่ 17 ตุลาคม โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และมวลน้ำที่มาจากจ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร 90 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งจะทำให้บริเวณที่อยู่นอกคั้นกันน้ำได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อเข้าบ้านเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ในช่วงน้ำขึ้นช่วงเช้าและจะลดลงในช่วงตอนบ่ายที่เป็นภาวะน้ำลง
ขณะที่ ปริมาณน้ำดังกล่าวมีปัจจัยมาจากน้ำฝนและน้ำทะเลหนุนเท่านั้น ไม่ได้มีปัจจัยของน้ำเหนือเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าในสัปดาห์หน้า สถานการณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคลี่คลายลงได้
สำหรับในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่จะโดนร่องมรสุมเข้าเต็มพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องติดตามน้ำจากเทือกเขาสอยดาว และน้ำตกเขาสอยดาว ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำสายสำคัญในภาคตะวันออก ซึ่งมีปริมาณน้ำมาก และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สระแก้วได้รับผลกระทบ จากนั้นต่อด้วยจ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่ทะเล
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์สภาพอากาศในระยะนี้ โดยระบุว่า ไทยยังมีร่องมรสุมที่ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษ คือ พายุดีเปรสชั่น ซึ่งลูกแรกกำลังพัฒนาตัวขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และหลังผ่านฟิลิปปินส์จะขึ้นฝั่งที่เวียดนามประมาณวันที่ 14-15 ตุลาคม และจะส่งผลให้ฝนตกหนักในประเทศไทย ประมาณวันที่ 16-17 ตุลาคม ทางภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน แนวเดียวกับพายุหวู่ติ๊บลูกที่แล้ว
ส่วนพายุดีเปรสชันลูกที่ 2 กำลังพัฒนาตัวเป็นพายุที่รุนแรงขึ้น แต่ทิศทางพายุนั้น ยังต้องรอดูในระยะถัดไป เนื่องจากหากเคลื่อนลงต่ำ ก็จะเคลื่อนตัวแนวเดียวกันทั้ง 2 ลูก แต่หากโชคดี อิทธิพลจากอากาศเย็นทางตอนบนจะช่วยลดความรุนแรงของพายุทั้ง 2 ลูกนี้ และช่วยทำให้ฝนตกลดลงได้