ตำรวจนครบาลสั่งติดตามผู้ต้องหามอมยารูดทรัพย์ในโรงพยาบาล
อย.มีแนวคิดควบคุมการจำหน่วยสารชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาสัตว์ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสารที่ผู้ก่อเหตุนำมาใช้ในการมอมยาเพื่อรูดทรัพย์ผู้ป่วยที่มารอรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยวันนี้ (14 ต.ค) จะทราบผลที่มาของการจำหน่ายที่ได้ดำเนินการตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ ส่วนตำรวจนครบาลสั่งติดตามตัวผู้ก่อเหตุที่ได้ออกหมายจับไปแล้ว พร้อมให้พนักงานสืบสวนเร่งหาความเชื่อมโยงในคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยความคืบหน้ากรณีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาในโรงพยาบาล ถูกผู้ก่อเหตุเข้ามาตีสนิท ก่อนหลอกให้ดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ผสมสารชนิดหนึ่ง จนหมดสติก่อนถูกรูดทรัพย์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลที่เกิดเหตุอย่างละเอียด เบื้องต้น พบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้ประมาณ 5 ครั้ง แต่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นผู้ก่อเหตุรายเดียวกันหรือไม่
สำหรับในวันนี้ (14 ต.ค.) กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เรียกตำรวจชุดทำงานดังกล่าวมาประชุม และนำข้อมูลทั้งหมดที่หาได้มาวางแผน และหาความเชื่อมโยง รวมทั้งสอบถามความคืบหน้า ซึ่งเบื้องต้น จะมีการบูรณาการข้อมูลที่ได้ให้ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งออกหาภาพจากกล้องวงจรปิดรอบๆ โรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ทั้งที่เป็นกล้องวงจรปิดของบริษัทเอกชน หรือห้างร้านต่างๆ รวมถึงกล้องของทางราชการ และ กทม.
ขณะที่ พ.ต.ต.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เจ้าของคดี เปิดเผยว่า ได้ขอศาลอาญารัชดาออกหมายจับผู้ต้องหาชายที่ปรากฏในภาพวงจรปิดแล้ว 1 คน ซึ่งเป็นหมายจับกรณีการก่อเหตุมอมยาหญิงชรา อายุ 69 ปี ขณะรอการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนรูดทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 14,000 บาท ในข้อหาชิงทรัพย์ผู้อื่น
นอกจากนี้ ได้สอบปากคำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสารที่ถูกนำมาใช้ก่อเหตุ ทราบว่ามีอันตรายถึงชีวิต หากใช้มากเกินหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยหากจับกุมผู้ต้องหาได้ จะแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา คือข้อหาปลอมปนสารในอาหารให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบสารที่นำมาใช้ในการก่อเหตุ น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยว่า ในวันนี้(14 ต.ค.) จะทราบผลการตรวจสอบยาชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นยาฉีดที่ทำให้สัตว์สลบ แต่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยการมอมยาคน โดยจะตรวจสอบว่าขณะนี้ยาชนิดนี้ทั้ง 9 ตำรับที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. บริษัทได้ส่งไปขายที่ใดบ้าง ส่วนกรณีจะยกระดับจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษหรือไม่นั้น ยังต้องฟังความเห็นของหลายฝ่าย
น.สพ.ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ยาที่ใช้นำมาก่อเหตุ ใช้เฉพาะในสัตว์ และต้องมีสัตวแพทย์เป็นผู้ใช้เท่านั้น ส่วนที่ผู้อื่นนำไปใช้ต้องดูว่าได้ยามาจากแหล่งใด ซึ่งหาก อย. จะประกาศยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษก็เห็นด้วย