จับตาพื้นที่ปลายน้ำ
ฝนที่ตกหนักในช่วง 1-2 วันนี้ ทำให้ต้องกลับมาจับตาสถานการณ์น้ำที่ยังท่วมขังในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำทั้งในจ.ฉะเชิงเทรา และนครนายก ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำที่หลากมาจากจ.ปราจีนบุรี
สถานการณ์น้ำในจ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่อ.นาดี, กบินทร์บุรี, ประจันตคาม, ศรีมหาโพธิ, เมืองปราจีนบุรี และศรีมโหสถ ปริมาณน้ำเริ่มลดลง เล็กน้อย ส่วนพื้นที่อ.บ้านสร้างที่ต้องรับมวลน้ำมาจากทุกอำเภอ ยังไม่มีท่าทีจะลดลง แม้ว่าทางชลประทานจะมีการตั้งเครื่องสูบน้ำลงในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางประกงก็ตาม และน้ำที่ท่วมขังนานบางส่วนเริ่มเน่าเสียแล้ว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 เดือน ระดับน้ำที่ท่วมจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนที่จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำยังทรงตัว แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะยังมีมวลน้ำจากจังหวัดปราจีนบุรี ไหลเข้ามาเพิ่มในอีก 2-3 วัน ข้างหน้า แม้ว่าทางจังหวัดจะเร่ง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำบางปะกงเพิ่มอีก 4 จุด เพื่อช่วยผลักดันน้ำในแม่น้ำให้ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวไทยเร็วขึ้น โดยยังมีจุดเฝ้าระวังสำคัญที่ต.โยธะกา ที่รับน้ำท่วมเอ่อล้นจากแม่น้ำนครนายกโดยตรง และมีพื้นที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เสริมความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำ
เช่นเดียวกับที่ต.บางสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 5-6 เซนติเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งสร้างแนวคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยว ขณะที่น้ำที่ท่วมขังมานานเกือบ 1 เดือน เริ่มเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ไม่สามารถอพยพไปอยู่ที่อื่นได้
ขณะที่สำนักชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ประมวลสถานการณ์น้ำ เพื่อรับมืออิทธิพลพายุนารี ไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีอ่างเก็บที่มีปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำแชะ
ส่วนที่จ.มหาสารคาม ประกาศให้ประชาชนซึ่งอยู่ในที่ลุ่มริมแม่น้ำชีเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากแม่น้ำชียังคงเพิ่มสูงขึ้นวันละ 20 เซนติเมตร ซึ่งหากมีฝนตกลงมาสมทบอาจทำให้น้ำล้นตลิ่ง