ปันน้ำใจช่วยเหลือ “สัตว์” เหยื่อภัยพิบัติที่ถูกลืม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวถึง 2 ครั้งที่เนปาล ขนาด 7.8 ในเมืองกาฐมาณฑุ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2558 ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 81 ปี และไหวอีกเป็นรอบที่ 2 ขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 นอกจากสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตผู้คน อาคารบ้านเรือน และอารยธรรมทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังคร่าชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมากอีกด้วย
ข้อมูลจาก “องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก” หรือ “World Animal Protection” เผยว่า แผ่นดินไหวครั้งแรกในเนปาลทำให้ปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์ปีก ตายมากถึง 100,000 ตัว จากจำนวนทั้งหมดที่คาดว่ามีอยู่ 70 กว่าล้านตัวทั่วประเทศ ซึ่งไม่รวมสัตว์เลี้ยงตามที่พักอาศัย นั่นหมายถึงยังมีสัตว์อีกไม่น้อยที่รอคอยความช่วยเหลือไม่ต่างจากมนุษย์
สุวิมล บุญทารมณ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและระดมทุน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศ ไทยกล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ “สัตว์มักเป็นเหยื่อที่ถูกลืม” และมักทุกข์ทรมานจนถึงแก่ความตายในที่สุด สาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือสัตว์ในพื้นที่ภัยพิบัติรวมถึงเนปาล ซึ่งการช่วยชีวิตปศุสัตว์เหล่านี้ย่อมเท่ากับคุ้มครองความมั่นคงในการดำรงชีพของชาวเนปาลด้วย เพราะประชากรเนปาลมากกว่าร้อยละ 70 พึ่งพากสิกรรม โดยมีปศุสัตว์เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
สุวิมลเล่าให้ฟังว่า เพียง 5 วัน หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก ทีมสัตวแพทย์ขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ในอินเดียที่อยู่ใกล้พื้นที่ประสบภัยมากที่สุด ได้เดินทางเข้าไปยังเนปาลเพื่อช่วยสัตว์ในพื้นที่ทันที แม้จะมีสมาชิกทีมเพียง 4 คน แต่การทำงานที่ประสานร่วมกับองค์กรในท้องถิ่นและกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ ทำให้ขณะนี้ช่วยเหลือและรักษาสัตว์ไปแล้วกว่า 20,000 ตัว เป็นอย่างน้อย และกำลังเคลื่อนย้ายทีมไปสู่เมืองสินธุปาลโชค
“จากประสบการณ์ 50 ปี ในการช่วยเหลือสัตว์ในเหตุภัยพิบัติ ถ้าทำได้เร็วมากเท่าไรก็จะลดความสูญเสียได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะหากปล่อยไว้นาน สัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บจะลามไปสู่ระดับพิการ เจ้าของและชาวบ้านก็จะไม่ช่วย บางตัวอาจถูกฆ่าทิ้งเพราะขายไม่ได้ราคาหรือหมดประโยชน์ นอกจากนี้หากไม่มีวิธีกำจัดซากสัตว์ในพื้นที่อย่างถูกต้อง อาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ด้วยกันเอง” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและระดมทุน องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ประจำประเทศไทย แจงเพิ่ม
ทั้งนี้ สิ่งที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ เข้าไปดูแลช่วยเหลือสัตว์ต่าง ๆ ที่ประสบภัยพิบัติ สุวิมลอธิบายว่า มีทั้งรักษาในระยะสั้นและการฟื้นฟูระยะยาว โดยการรักษาระยะสั้นคือการเข้าไปบรรเทาทุกข์ตามลำดับความช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างเหมาะสม ทั้งสร้างเพิงพักชั่วคราว หาแหล่งน้ำให้กับสัตว์ รักษาพยาบาล และมอบอาหารให้อยู่ได้ถึง 2 อาทิตย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ขององค์กรจะเคลื่อนย้ายทีมไปตามเขตที่เสียหายหนัก โดยจะสลับกันทีมละ 1-2 สัปดาห์ในการลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน และหากครบ 1 เดือน ก็จะให้กลับประเทศแล้วส่งทีมจากประเทศอื่นไปสมทบ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะอยู่ยาวนานแค่ไหน เพราะการทำงานจะประเมินอาทิตย์ต่ออาทิตย์
ส่วนระยะยาวคือการกลับเข้าไปวางแผนฟื้นฟูดูแลร่วมกับหน่วยงานด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ ด้วยการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้สัตว์ และมอบองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติการอพยพสัตว์อย่างถูกต้องเมื่อเกิดเหตุภัยพัติต่างๆ ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ จัดทำเป็นคู่มือไว้ เช่น สัตว์ใหญ่อย่างวัวหรือควาย ต้องมีหญ้าแห้งเตรียมสำรองไว้ 2 อาทิตย์ตลอดเวลา และควรหาที่ปลอดภัยที่สามารถอพยพได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ส่วนในกรณีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงไม่ควรผูกติดไว้กับเสาหรืออาคารบ้านเรือน ขณะที่เจ้าของควรตั้งสติยามเกิดเหตุในการเตรียมของช่วยเหลือชีวิตของตัวเองและสัตว์ ซึ่งมีหลายกรณีที่เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วเจ้าของลืมหรือทิ้งสัตว์ไว้ และพอกลับไปช่วยเหลือกลับติดอยู่ในพื้นที่เป็นเหตุทำให้ทั้งคนและสัตว์เสียชีวิต
มากไปกว่าการเป็นแหล่งอาหาร เป็นพาหนะ รวมถึงมูลค่าแปรเป็นเงินที่คนจะได้จากสัตว์ สุวิมลกล่าวว่า สัตว์คือสายใยผูกพันที่ทั้งคนและสัตว์มีให้แก่กันในฐานะเพื่อน ในบางครอบครัวสัตว์เปรียบได้กับสมาชิก หากเข้าไปช่วยเหลือสัตว์ให้รอดปลอดภัยได้ ก็เท่าเราได้ช่วยเยียวยาจิตใจของคนในอีกทางหนึ่ง
“เจ้าหน้าที่จากอินเดียแจ้งว่ามีผู้ประสบภัยชาวเนปาลจำนวนไม่น้อย ได้ปันอาหารที่มีอยู่น้อยนิดให้สัตว์ของตัวเอง บางคนให้อาศัยและนอนห่มผ้าผืนเดียวกันในเต็นท์ชั่วคราว ขณะที่สัตว์ในพื้นที่ประสบภัยมีอาการหวาดผวา และมีความเป็นอยู่ที่น่าเวทนา” เจ้าหน้าที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ประจำประเทศไทยระบุ
สุวิมล บุญทารมณ์ เจ้าหน้าที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย
เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทาง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย จึงเปิดบัญชีบริจาคจากเพื่อระดมทุนจากเพื่อนำไปซื้ออาหาร เวชภัณฑ์ และสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเยียวยาชีวิตสัตว์ในเนปาล ซึ่งมีนักแสดงชาย “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” และเฟซบุ๊กชื่อดัง “ทูนหัวของบ่าว” ร่วมรณรงค์ช่วยขอรับบริจาคด้วย
โดยสุวิมลบอกถึงเหตุผลที่ขอรับบริจาคเป็นเงินว่า เนปาลมีภูมิประเทศที่ยากต่อการเข้าถึงตามช่องทางปกติ และการช่วยเหลือขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ หมายถึงอาหารจำนวนมากน้ำหนักหลายตัน และยาบางชนิดต้องเก็บรักษาด้วยความเย็น หรือไม่ก็มีอายุการใช้งานสั้น การขนส่งทางไกลจึงไม่สะดวก ดังนั้น การบริจาคเป็นเงินจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดต่อการบริหารจัดการซึ่งช่วยย่นระยะทางและเวลา โดยองค์กรให้ความเชื่อมั่นว่าจะนำเงินบริจาคไปใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเนปาลสามารถบริจาคผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสโดยแจ้งชื่อ “องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก” หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ธนาคารกรุงศรีฯ สาขาถนนรัชดาภิเษก (อาคารโอลิมเปียไทย) เลขที่บัญชี 284-1-24404-1 หรือสนับสนุนผ่านทางออนไลน์ได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก: worldanimalprotection
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- Thai PBS
- thaipbs
- World Animal Protection
- กสิกรรม
- กาฐมาณฑุ
- จิตอาสา
- ทูนหัวของบ่าว
- บริจาคเงินช่วยเหลือเนปาล
- ปศุสัตว์
- ปอ ทฤษฎี
- ปันน้ำใจ
- ปันน้ำใจช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยพิบัติ
- ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
- ภัยพิบัติ
- สัตว์
- สัตว์ประสบภัยแผ่นดินไหว
- สัตว์เลี้ยง
- สินธุปาลโชค
- สุวิมล บุญทารมณ์
- องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
- องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย
- เกษตกร
- เนปาล
- เหยื่อภัยพิบัติ
- แผ่นดินไหวเนปาล