ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ยิ่งลักษณ์” ว่าที่นายกฯ หญิงคนแรกของไทย

การเมือง
4 ก.ค. 54
03:34
33
Logo Thai PBS
“ยิ่งลักษณ์” ว่าที่นายกฯ หญิงคนแรกของไทย

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของโลก ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีหญิงของหลายประเทศสามารถบริหารประเทศได้ไม่แพ้ผู้ชาย

ผู้หญิงที่ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในตำแหน่งผู้นำของประเทศมีหลายประเทศ เริ่มที่นางเฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรายที่ 37 ของนิวซีแลนด์ หลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2542 และในปี พ.ศ.2548 นางเฮเลนเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชาวเมารี และเปิดโอกาสให้ชาวเมารีมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศ ทำให้ได้รับคำชื่นชมจากทั้งประเทศ
 
นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีคนที่ 14 แห่งฟิลิปปินส์ 14 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ เข้าสู่วงการการเมือง โดยสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ.2535 และได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ.2544 แทนนายโจเซฟ เอสตราดา
 
ถัดมาคือ นางยูลิยา โวโลดีมีริฟนา ทีโมเชงโก นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสาธารณรัฐยูเครน ถูกขนานนามว่า โจน ออฟ อาร์คแห่งยูเครน จากความสวยและเอกลักษณ์ที่ผมถักสีบลอนด์ ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลได้ถึง 2 สมัย คือในปี พ.ศ.2548 และปี พ.ศ.2549 แม้จะเคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าทรัพย์สินของเธออาจได้มาโดยมิชอบ
 
นางซีไนดา กราเซียนี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐมอลโดวา เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงจากพรรคคอมมิวนิสต์คนแรกและคนเดียวของโลก จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน จากมหาวิทยาลัยแห่งมอลโดวา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือน มี.ค.51 โดยได้รับเสียงในสภาถึง 56 จาก 101 เสียง
 
นางลุยซา ดิแอซ ดิโอโก นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสาธารณรัฐโมซัมบิก จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ เริ่มงานการเมืองจากการเป็นสมาชิกพรรค FRELIMO ที่ปกครองประเทศโมซัมบิกตั้งแต่ประกาศเอกราชในปี พ.ศ.2518 เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2547
 
นางอังเกลา แมร์เคิล สมุหนายกหญิงคนแรก หญิงเหล็กแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี สตรีผู้ทรงอำนาจอันดับ 1 ของโลกปัจจุบันจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ผู้ก้าวมาจากอาชีพนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ในเยอรมนีตะวันออก และสามารถพลิกโฉมหน้าของเยอรมนีในยุคศตวรรษที่ 21 ให้ก้าวมามีบทบาทในประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
 
นางเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ "หญิงเหล็กแห่งแอฟริกา" ประธานาธิบดีหญิงที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของทวีปแอฟริกา ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศและศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีประวัติการเมืองอย่างโชกโชน ทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง, ถูกจำคุกนานถึง 10 ปี, ถูกเนรเทศ ก่อนจะกลับเข้าประเทศอีกครั้ง และชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2548 และได้รับเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ.2550
 
นางมิเชล ปิแอร์-ลูอิส นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศเฮติ อดีตประธานองค์กร NGO ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจอร์จ โซรอส และได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีเรอเนต์ เปรอวาล ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือน ส.ค.2551 นางคริสตินา แฟร์นันเดซ เด เกิร์ชเนอร์ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกแห่งอาร์เจนตินา
 
นางเวโรนิกา มิเชล บาชแล็ต ประธานาธิบดีแห่งชิลี มีเชื้อสายฝรั่งเศส-กรีก พูดได้ 6 ภาษา แม้จะพ่ายแพ้ในการลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปลายปี พ.ศ.2539 แต่จากผลงานด้านสาธารณสุข รวมถึงนโยบายสมานฉันท์ในสมัยประธานาธิบดีริคาร์โด ลากอส ทำให้เธอได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2549
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง