การพิจารณารายละเอียดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนวันนี้ (25 ต.ค.) เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ขออภิปรายแปรญัตติ รวม 196 คน และแม้ระหว่างการประชุมนัดสุดท้ายจะเกิดการถกเถียงตอบโต้กัน
กรณีมาตรา 3 ที่กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า จะตีความครอบคลุมยกเว้นความผิดในคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. โดยเฉพาะคดียุบพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชาชน
แต่กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยทั้ง นายวรชัย เหมะ และนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ย้ำว่า ที่เจตนาช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อบัญญัติแต่อย่างใด
สำหรับคำแปรญัตติของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เสนอที่จะอภิปรายปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา 3 โดยเฉพาะการเน้นย้ำที่จะเขียนข้อบัญญัติให้ชัดเจนว่า จะครอบคลุมถึงคดีใดและเกี่ยวข้องกับองค์ใดบ้าง
ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และในฐานะแกนนำ นปช. เช่น นพ.เหวง โตจิราการ ปฏิเสธสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และระบุที่จะไม่ร่วมลงมติในวาระที่ 2 และ 3
ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ระบุว่า จะลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้เห็นว่าไม่ควรให้ประโยชน์กับผู้สั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ย้ำในจุดยืนของ นปช. ว่า ต้องการให้ผู้สั่งสลายการชุมนุนรับโทษตามกฎหมาย ส่วนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แนวร่วมคนเสื้อแดง ชี้ว่า หากกรรมาธิการเสียงข้างมากจากพรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว อาจต้องแลกกับความไว้วางใจที่ประชาชนหรือมวลชนมีให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับบนี้ คาดการณ์ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุวาระการพิจารณาในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ขณะเดียวกันก็มีกำหนดเลื่อนการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 190 เป็นวันที่ 4 พ.ย.จากเดิมวันที่ 2 พ.ย.โดยมีรายงานว่า เป็นการเลื่อนออกไป เพื่อลดแรงกดดันจากการชุมนุมทางการเมือง