วิเคราะห์ปัญหาเขตแดน หลังศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร
บรรณาธิการข่าว ไทยพีบีเอส วิเคราะห์คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีปราสาทพระวิหาร หลังศาลโลกมีคำตัดสินแล้ว ว่า การตีความคำตัดสินทั้งของไทยและกัมพูชา ในเรื่องเขตแดนรอบตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งยังคงต้องมีกระบวนการพูดคุยและทำความเข้าใจถึงขอบเขตพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกกำหนดขึ้นมาใหม่
วันนี้ (12 พ.ย.) นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส วิเคราะห์คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหารว่า ตามที่ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนทีมกฎหมายไทย กล่าวย้ำต่อคนไทยว่า ประเทศไทยไม่ได้เสียดินแดน 4.6 ตร.กม.ตามที่ กัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยที่อาจยังไม่มีได้การขยายความในพื้นที่ที่เสียไป
ซึ่งตามคำพิพากษาของศาลโลก ได้มีการกำหนดพื้นที่ใกล้เคียง (vicinity area) รอบปราสาทพระวิหารขึ้นใหม่ โดยในคำร้องของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาเห็นว่า ตามมติ คณะรัฐมนตรีของไทยที่ได้กำหนดไปเมื่อ 10 ก.ค.2505 ขนาดประมาณ 160 ไร่ กัมพูชาเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ vicinity area ซึ่งตามคำตัดสินของศาลโลกวานนี้ (11 พ.ย.) ได้กำหนดว่า พื้นที่ใกล้เคียงรอบปราสาทพระวิหาร อยู่บริเวณใด โดยศาลได้กำหนดให้พื้นที่ทางด้านทิศเหนือของตัวปราสาท ให้ถือเอาเส้นตามแผนที่ annex 1 หรือ แผนที่อัตราส่วน1 :200,000 เป็นเส้นสิ้นสุดขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ศาลโลกก็ได้ระบุ ตามย่อหน้าที่ 98 ของคำตัดสินว่า เส้นตามแผนที่ annex 1 ไปชนกับแนวหน้าผาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ ทำให้ประเมินได้ว่า อาจรวมถึงพื้นที่ผามออีแดง ซึ่งทางการไทยอาจจะต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ตามคำสั่งของศาลโลก รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทางทิศตะวันตกซึ่งศาลโลกได้ใช้คำว่า จุดสิ้นสุดของเขตพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทพระวิหาร คือ ทางลาดชันลงหุบเขาและเป็นพื้นที่ที่หุบเขาของเขาพระวิหารกับเขาของพนมทับเจอกัน ซึ่งบริเวณเขาพระวิหารทางทิศตะวันตกออกไปประมาณ 1 กม.จะมีภูเขาอีกลูกซึ่งได้แก่ เขาพนมทับ หรือ ภูมะเขือ ตามที่ศาลโลกเห็นว่า เขาพนมทับ หรือ ภูมะเขือ ไม่ใช่เป็นของกัมพูชา ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ตามที่นายวีรชัย ได้กล่าวไว้ ว่า ทางกัมพูชาไม่ได้พนมทับ เนื่องจากพื้นที่พนมทับอยู่นอกเหนือตัวปราสาทพระวิหารจึงไม่ใช่พื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาท
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ไทยอาจจะเสียไปก็คือ พื้นที่ทางทิศตะวันตกของตัวปราสาทพระวิหาร นับจากตัวปราสาทตามเส้นของมติ ครม.10 ก.ค.2505 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 500 - 600 เมตร ซึ่งงจะเป็นทางลงเขาลงไปในหุบซึ่งจะเจอกัน แนวดังกล่าวจะเป็นขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทอันใหม่ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 300 - 400 ไร่ แต่ว่าในขณะนี้รัฐบาลก็ยังมิได้พูดอย่างชัดเจนจึงทำให้มีความสับสน ซึ่งสรุปได้ว่า ไทยเสียดินแดนบางส่วนแต่ยังไม่ชัดเจนถึงปริมาณพื้นที่
ขณะที่ ตามคำตัดสินวานนี้ (11 พ.ย.) ศาลได้ตัดสินพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทตามคำร้องของกัมพูชาให้กำหนดพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาท แต่ก็มิได้กำหนดพื้นที่ตามที่กัมพูชาร้องขอคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ซึ่งกัมพูชาไม่ได้ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งพื้นที่ที่ได้นั้นเล็กว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ไชยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูา (เจบีซี) ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ในบันทึกความเข้าใจ 43 (MOU 43) ซึ่งเป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาแนวเขตแดนร่วมกัน หลังจากที่ศาลโลกตัดสินไปแล้ว หากทางการไทยเห็นคล้อยตาม หรือไม่มีข้อคัดค้านก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลกำหนดไว้ ซึ่งต้องมีการหารือกันและกำหนด ทั้งนี้คาดว่า จะเกิดปัญหาตามก็คือ การตีความในสิ่งที่ศาลพูด เนื่องจากที่ศาลชี้มี 3 บรรทัดที่อยู่ในย่อหน้า 98 ที่พูดถึงพื้นที่ใกล้เคียงรอบปราสาทพระวิหารว่ามีขอบเขต บริเวณใด อย่างไร
บรรณาธิการข่าว ไทยพีบีเอส ยังกล่าวว่า ในอนาคตอาจจะเป็นปัญหาในการพูดคุย ทำความเข้าใจ ขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาท ที่ไทยจะต้องถอนกำลังออก เนื่องจากตามคำสั่งศาลในย่อหน้า 98 ไม่ได้มีการลงรายละเอียด แต่ว่าใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ คือ บริเวณทางตีนเขาของเขาพระวิหาร ซึ่งหากกล่าวให้ชัด ศาลใช้คำว่า promontory แต่คำนี้เมื่อเเปล เป็นคำว่า "ชะง่อนผา" ก้อาจะไม่ชัดเจนนักซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขาพระวิหารทั้งลูก ซึ่งยังคงใช้เส้นตามแผนที่ annex 1 ซึ่งศาลได้กำหนดว่า ทางทิศเหนือให้สิ้นสุดที่เส้นตามแผนที่ annex 1 ไม่ให้ข้ามเส้นนี้ไป ซึ่งเมื่อไม่ข้ามเส้นนี้ไปพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทที่กัมพูชาจะได้ไปก็คือ ทางใต้ของเส้นดังกล่าว ส่วนทางทิศตะวันตกจะไปสิ้นสุดบริเวณตีนเขาที่ภูเขา 2 ลูกเจอกัน ซึ่งก็คือ พนมทับ (ภูมะเขือ) กับเขาพระวิหาร
นอกจากนี้ ในการพูดคุยต่อไปนั้น ในพื้นที่ทางตอนเหนือที่อาจกินไปถึงบริเวณผามออีแดง ซึ่งทางกองทัพจะต้องชี้แจง เนื่องจากดูตามคำสั่งศาลที่ออกมา ซึ่งจะมีการตัดถึงจุดดังกล่าว
นายเสริมสุข ยังกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่กัมพูชานำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2554 ก็คือกัมพูชาต้องการพื้นที่มากกว่าที่ทางการไทยกำหนดไว้ตามมติครม.เมื่อ ก.ค.2505 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญมาก ดดยพื้นที่ที่ศาลโลกกำหนดให้ใหม่ นอกจากจะมีชุมชนอยู่แล้ว ยังมีวัดแก้วสิขา คีรีสวาระ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทพระวิหารไปประมาณ 300 เมตร ซึ่งมีการตัดถนนขึ้นมายังเขาพระวิหาร
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว อาจจะเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ตามที่ศาลกำหนดให้อยู่ในเขตของกัมพูชา ซึ่งจะมีความสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2551 ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ในการบริหารจัดการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลก (ยูเนสโก) กำหนด ซึ่งพื้นที่ที่กำหนดขึ้นใหม่นี้จะทำให้กัมพูชาสามารถจัดการพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกได้ทันที เนื่องจากมีถนนที่สามารถนำประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างสะดวก และสามารถพัฒนาไปสู่การจัดการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่หลังจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา