การประกาศนัดรวมพลและยกระดับการชุมนุมของแกนนำคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เวทีราชดำเนิน ในเย็นวันนี้ (15 พ.ย.) เป็นที่จับตาของหน่ายงานด้านความมั่นคงอย่างมาก เนื่องจากเป็นห่วงการมีมือที่ 3 อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ และจะใช้เหตุนี้ ยกระดับการชุมนุมขึ้นมา เพื่อให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล
โดยพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวกับไทยพีบีเอสว่า ได้ติดตามการประเมินสถานการณ์การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่แกนนำได้ประกาศประสานมวลชนทั้งจากต่างจังหวัดและในพื้นที่กทม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรและความสงบเรียบร้อย ดังนั้นต้องเฝ้าระวังมือที่ 3 ที่อาจเข้ามาก่อเหตุ
ส่วนมาตราการที่ผู้ชุมนุมเรียกว่า อารยะขัดขืนนั้น จากการประเมินของสมช.พบว่า ยังไม่สามารถยกระดับการชุมนุมไปได้ เพราะไม่รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร ซึ่งการยกระดับการชุมนุมหลังจากนี้ ทางแกนนำจะใช้กลยุทธ์ที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชุมนุมเป็นหลัก ซึ่งต้องดูจากจำนวนมวลชนตั้งแต่ช่วงบ่ายนี้เป็นต้นไป และอาจจะมีการเคลื่อนขบวนเพราะเป็นเรื่องปกติของการชุมนุม โดยจะมีการเคลื่อนขบวนของมวลชนจากหลายพื้นที่มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และส่วนหนึ่งจะเคลื่อนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรการในส่วนนี้อาจทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะจะส่งผลต่อการจราจร
ขณะที่ การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในวันที่ 18-20 พฤศจิกายนนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน และประเมินว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความรุนแรงอยู่บ้าง แต่เมื่อดูจากประเด็นข้อเรียกร้องและเงื่อนไขต่างๆ ทำให้ความชอบธรรมเริ่มลดลง เนื่องจากจุดยืนของแกนนำการชุมนุมที่เวทีราชดำเนินเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสที่แนวร่วมจะถดถอยลงไป
เลขาธิการสมช.ประเมินว่า การชุมนุมที่ถนนราชดำเนินอาจมีความยืดเยื้อ ด้วยปัจจัยที่ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. อีกทั้งจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ยืนยันว่ายังสามารถรับมือการชุมนุมได้ตามแผนที่วางไว้ และจำนวนเจ้าหน้าที่ยังเพียงพอในการดูแลความปลอดภัย ทั้งในส่วนการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน และการชุมนุมของกลุ่มนปช.ในสัปดาห์หน้า