ชินลง กีฬาโบราณของพม่า ที่บรรจุลงในซีเกมส์
ในพม่ามีการเล่น ชินลง มายาวนานนับร้อยปี จนกลายเป็นกีฬาโบราณ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม และการละเล่นของพม่า โดยก่อนหน้านี้ชาวพม่า นิยมเล่นโชว์เป็นอาชีพ แต่ซีเกมส์ครั้งนี้ ชินลงคือ 1 ในกีฬาท้องถิ่น ที่พม่าบรรจุเข้ามา เพื่อเพิ่มโอกาสชิงเหรียญทอง
ศิลปะการเล่นลูกหวายของชาติในอาเซี่ยน ถูกเรียกขานแตกต่างกันไป ซึ่งไทยเรียกว่าตะกร้อวง มาเลเซียเรียกเซปักการา ฟิลิปปปินส์เรียกสีปา และในพม่าเรียกว่าชินลง
แต่ชินลงมีความโดดเด่นอย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เล่นต้องแสดงลีลาให้สวยงาม โดยผสานกีฬากับการร่ายรำให้พอเหมาะ กีฬาชนิดนี้ไม่ใช่เกมส์การต่อสู้ แต่ต้องโชว์ทักษะเดาะลูกหวาย แข่งกับเวลาให้ได้แต้มมากที่สุด
ชาติที่มีพื้นฐานในการเล่นตะกร้ออยู่แล้ว เช่นมาเลเซีย, ลาว และไทยย่อมได้เปรียบ เพียงแต่นำมาปรับพื้นฐาน และสร้างความคุ้นเคยให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะลูกหวายที่จะมีขนาดใหญ่กว่าลูกตะกร้อ และโปร่งกว่า
จริงๆ แล้วท่าทางในการเล่นชินลงมีกว่า 200 ท่า แต่ในการแข่งขันถูกบังคับให้ใช้เพียง 6 ท่า แต่ละทีมมีนักกีฬา 6 คน โดยประเภททีมชายมีชิง 4 รายการ เช่นเดียวกับทีมหญิง ซึ่งแบ่งเป็นรายการที่ใช้ท่าพื้นฐาน และรายการที่เล่นท่ายาก
ในการสาธิตภายในเวลา 30 นาที ผู้เล่นต้องสลับกันเข้าไปเดาะลูกชินลง ในเขตวงกลมโดยไม่ให้เหยียบเส้น ไปดูตัวอย่างการสาธิตท่าพื้นฐานในรายการแรก ผู้เล่นทั้ง 6 คนต้องเล่นคนละท่า ห้ามเปลี่ยนท่าไปตลอดจนครบ 30 นาที ในแต่ละรอบเมื่อเล่นครบ 6 คนจะได้ 1 คะแนน
ส่วนรายการที่ 2 จะยากขึ้นโดยแต่ละคนต้องเล่นให้ครบทั้ง 6 ท่า ซึ่งแต่ละรอบจะเล่นทีละท่าจนครบ
สำหรับรายการที่ 4 ซึ่งเป็นท่ายาก กำหนดให้แต่ละคนเล่นคนละท่า เหมือนรายการแรก แต่มีท่าบังคับคือนักกีฬาต้องกระโดดไข้วขาก่อนเล่นท่าของตัวเอง
หัวใจสำคัญของกีฬาชินลง คือต้องอาศัยความชำนาญ บวกกับความเร็วเพื่อทำแต้มให้มากที่สุด นักกีฬาแต่ละทีมต้องแข่งขันให้ครบ 3 เซท และต้องชนะ 2 ใน 3 เซทจึงจะเป็นผู้ชนะ