บทเรียนจริยธรรมจากภาพยนตร์
วิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มมาจากนโยบายเงินกู้ที่อยู่อาศัย ก่อนจะกลายเป็นหนี้สาธารณะก้อนโตส่งผลกระทบไปทั่วโลก จากการทำกำไรในตลาดตราสารหนี้แบบขาดความยั้งคิด ถ่ายทอดผ่านปากคำของบุคคลสำคัญในแวดวงการเงิน อย่าง จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน หรือ โดมินิค สเตราส์ คาห์น อดีตผู้ว่าฯไอเอ็มเอฟ
ในภาพยนตร์เรื่อง ดิ อินไซด์ จ็อบ สะท้อนถึงภาวะการขาดจริยะธรรมในการบริหารงานของภาคเอกชน รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนในแวดวงการเมือง นี่คืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำในปี 2007 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
เหตุการณ์จริงจากภาพยนตร์สารคดียังฉายภาพให้เห็นถึงการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศใดก็ได้ในโลก จากฝีมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ตักตวงผลประโยชน์จำนวนมหาศาลโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ซ้ำยังเป็นอุทาหรณ์อย่างดี ว่าเมื่อผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจ มีบทบาทกำหนดนโยบายในภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการและมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
สฤณี อาชาวนันทกุล นักเขียนนักวิชาการด้านการเงิน กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ธุรกิจกับการเมืองไม่ได้อยู่เป็นเอกเทศจากกัน ก็เกิดสถานการณ์แบบที่เรียกว่านักธุรกิจการเมืองเกิดขึ้น หรือที่ผ่านมามีคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ความหมายคือการเขียนนโยบายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ตรงนี้เป็นบทเรียนที่ค่อนข้างดี
ดิ อินไซด์ จ็อบ" นำมาฉายประกอบเสวนา"คนรุ่นใหม่..นโยบายลด แลก แจก แถม ประชานิยม และประชาธิปไตย" เพื่อใช้เหตุการณ์จริงจากภาพยนตร์ มาเป็นบทเรียนถึงวิกฤตการณ์ในโลกสมัยใหม่ และหาหนทางเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น