ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตุลาการศาลรธน.ชี้ไม่บังคับรับอำนาจศาล

การเมือง
21 พ.ย. 56
05:10
75
Logo Thai PBS
ตุลาการศาลรธน.ชี้ไม่บังคับรับอำนาจศาล

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มา ส.ว. 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นถึงปฏิกิริยาของบางกลุ่มที่ไม่ยอมรับอำนาจศาล ว่าไม่สามารถบังคับได้ แต่ผู้ที่ปฏิเสธต้องรับผิดชอบในการดำเนินการของตนเองด้วย

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการแก้ที่มาส.ว. โดยระบุว่า ต้องการชี้ให้เห็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงจะกลับไปใช้เกณฑ์เดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ เพราะต้องชี้ให้เห็นว่า ตัวแบบแม้จะดูเหมือนดี แต่มันผ่านการพิสูจน์จากประเทศไทยแล้วว่า วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเชื่อมโยงการฐานการเลือกตั้งได้ และผู้ที่เข้ามาก็มักจะคนที่มีเครือข่ายมีอำนาจทางการเมือง หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเป็นคนในครอบครัว เครือญาติ ดังนั้นการจะให้ประเทศกลับไปสู่จุดเดิม จึงจำเป็นต้องชี้ให้ชัดและออกมาในคำวินิจฉัยกลาง

ส่วนกรณีการประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ เห็นว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เพราะได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 68 เป็นเรื่องที่ศาลจะรับไว้วินิจฉัยได้ ดังนั้น ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องพูดกันได้ แต่ไม่ควรนำมาโยงกับประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจรัฐจะบังคับไม่ได้ แต่ผู้ปฏิเสธก็ต้องรับผิดชอบ เรื่องที่ตัวเองทำด้วยเช่นกัน

นายจรัญกล่าวยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ จึงต้องให้ศาลเข้ามาช่วยขจัดความขัดแย้ง แม้รัฐธรรมนูญ จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความขัดแย้งเหมือนประเทศเยอรมนี แต่การให้ศาลช่วยเข้ามาคลี่คลาย ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ท้ายที่สุดควรกลับมาเป็นพี่น้องรอมชอมกัน โดยต้องไม่ให้ใครเอาความคิดของคนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มาใส่สมองของประชาชน ควรกลับมาหาทางออกที่ดี ให้กับประเทศชาติร่วมกัน มิใช่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง

มีรายงานที่เปิดเผยถึงเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยประเด็นกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 นั้น 3 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนในประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขที่ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ว่าขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญนั้น 4 เสียงข้างน้อยประกอบด้วย นายชัช นายอุดมศักดิ์ นายเฉลิมพล และนายบุญส่ง กุลบุปผา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง