เปิดเผยผลการศึกษา โครงการ 2 ล้านล้าน
โครงการภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. สูงถึง 1.273 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 63.65 คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ฐานะทางการเงินของ รฟท. ที่ขาดทุนสะสมจนถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ สูงกว่า 75,000 ล้านบาท ขณะที่ หนี้สินรวมสูงขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาส 2 อยู่ที่ราว 101,614 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วทั้งปี อยู่ที่ 102,900 ล้านบาท และเมื่อไปดูผลการดำเนินงานก็พบว่า ไม่มีกำไรมาหลายปีแล้ว ไตรมาส 2 ขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 1,550 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิก็ขาดทุนติดต่อกัน ซึ่งไตรมาส 2 ขาดทุน 3,681 ล้านบาท
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการร.ฟ.ท. บอกว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ผ่านศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นปี ร.ฟ.ท. ก็จะปรับแผนเพื่อรองรับ ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงคมนาคมด้วย นอกจากนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงของประเทศอะไร ซึ่งทุกประเทศก็สามารถเสนอราคาเข้ามาได้
นักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกต เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ซึ่งไม่ได้นำไปรวมในโครงการภายหลังการก่อสร้างเสร็จ ซึ่งความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่การพิจารณาเฉพาะตัวเงิน แต่ยังมองถึงความพึงพอใจด้วย นอกจากนี้ ความคุ้มค่าและต้นทุนที่รัฐบาลประเมินไว้ อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ตามแผนการลงทุนของรัฐ จะทำให้ระบบรางขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่การจ้างงานมีแนวโน้มพึ่งพาต่างชาติสูง และคนไทยก็จะอยู่ในระดับแรงงานหรือปฏิบัติการเท่านั้น
ส่วนธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ประเมินว่า หากมีการตีความร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จนไม่สามารถลงทุนได้ ก็อาจส่งผลให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวต่ำกว่า ที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 4-5