นักวิชาการเสนอ 3 ทางออก ปมร่างแก้ไขรธน.
อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มา ส.ว. ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมแนะนำให้ขอพระราชทานอนุญาตนำร่างกฎหมายกลับคืน เพราะเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่นักวิชาการ มองว่า รัฐบาลมี 3 ทางออก ในการแก้ปัญหา คือ ถอนร่าง ยุบสภา และลาออก
รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้คำตัดสินต้องถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อรอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย
นอกจากนั้น คำตัดสินของศาลยังจะถูกส่งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่มีหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมและจริยธรรมของนักการเมือง และส่งผลให้กลุ่มการเมืองนำคำตัดสินนี้ไปขยายผลในช่องทางอื่นๆ ต่อไป
ขณะที่ทางออกของรัฐสภาและรัฐบาลเองก็ดูจะเหลือเพียงแค่ 3 ทางคือ ต้องขอถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมไปแล้วกลับคืนมา หรือนายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา หรือลาออก
สำหรับการลาออก หรือยุบสภา เชื่อว่า จะช่วยลดกระแสทางการเมืองได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่เลือกหนทางนี้ เพราะยังมีนโยบายอีกหลายเรื่องที่ยังผลักดันไม่สำเร็จ ทั้งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม, การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอื่น รวมทั้งรัฐบาลเองคงไม่เชื่อมั่นว่า หากยุบสภาแล้วเลือกตั้งเข้ามาใหม่ จะได้รับเสียงข้างมากเหมือนเดิมหรือไม่
ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมศาลไม่สั่งให้เลิกการกระทำ เพราะวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว และร่างกฎหมายอยู่ในชั้นของการทูลเกล้าทูลกระหม่อม จึงไม่เป็นเหตุผลที่ศาลสั่งให้เลือกการกระทำได้
เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ แนวทางขณะนี้ที่มีอยู่ คือ นายกรัฐมนตรี ต้องไปขอพระราชทานอนุญาตนำร่างกลับคืน หรือทิ้งไว้ และรอให้สำนักราชเลขาธิการ ส่งกลับคืน จึงถือว่าขณะนี้ร่างดังกล่าว ไปต่อไม่ได้แล้ว และรัฐสภาไม่สามารถที่จะดึงดันโดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เพราะไม่ใช่กรณีที่พระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัย ที่จะไม่ลงปรมาภิไธย เนื่องจากร่างกฎหมายกดังกล่าวอยู่ในชั้นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น
ส่วนเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว การดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกร้องนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญผูกพันทุกองค์กร
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เรื่องนี้ไม่เคยปรากฎมาก่อน ฝ่ายกฎหมายอาจจะต้องหารือ กับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วัน คงต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ จากนั้นประธานรัฐสภาต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร จุดเริ่มต้นอยู่ที่รัฐสภาก็น่าจะกลับไปรัฐสภาก่อน