เมื่อสมาชิกครบองค์ประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ขอมติจากที่ประชุมถึงญัตติไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยที่ประชุมใช้เวลาเพียงไม่นานในการลงมติ ด้วยวิธีเสียบบัตรลงคะแนน โดยที่ประชุมมีมติไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยคะแนน 297 ต่อ 134 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 5 เสียง และลงมติให้ความไว้วางใจนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ด้วยคะแนน 296 ต่อ 135 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง ซึ่งโดยสรุปถือว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความไว้วางใจทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ทำหน้าที่ต่อไป เพราะคะแนนไม่ไว้วางใจไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย
เมื่อลงมติเสร็จสิ้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็กล่าวสรุปผลงาน และการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยสามัญทั่วไป ก่อนอ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม ก่อนหน้าการประชุมมีความเห็นของนายกรัฐมนตรีต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ยอมรับว่าการบุกยึดสถานที่ราชการ เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของส่วนราชการ แต่ยังสามารถทำงานได้ และกล่าวย้ำถึงทางออกของปัญหาคือการพูดคุยเจรจาทำความเข้าใจผ่านเวทีการพูดคุยที่มีอยู่ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า และแสดงความพร้อมที่จะร่วมหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเพื่อหารือและขอข้อเสนอแนะ
และหลังปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลายพรรคกการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็นัดประชุม ส.ส.ของพรรคในทันที เพื่อกำหนดท่าทีและจุดยืนของแต่ละพรรค โดยมีรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์จะประเมินสถานการณ์ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวภายนอกสภาเพื่อกำหนดท่าที รวมถึงการหารือว่าสส.ของพรรคจะลาออกทั้งพรรค เพื่อร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนนอกสภาหรือไม่หรือไม่
แต่ก็ยังมีความเห็นต่างในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะส.ส.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการลาออกทั้งพรรค ที่จะไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อรัฐบาล เพราะหากไม่มีการยุบสภา ก็จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดความเสียบเปรียบ และด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมกรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคในตอนนี้