ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อธิการบดี มศว เผยที่ประชุม ทปอ.เสนอยุบสภา - ตั้งรัฐบาลรักษาการ

สังคม
3 ธ.ค. 56
04:30
120
Logo Thai PBS
อธิการบดี มศว เผยที่ประชุม ทปอ.เสนอยุบสภา - ตั้งรัฐบาลรักษาการ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยที่ประชุม ทปอ.เสนอยุบสภา และตั้งรัฐบาลรักษาการ ยืนยันได้รับเสียงตอบรับฝั่งรัฐบาล และแกนนำฝั่งผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินว่าเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ยังไม่ถึงขั้นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตกลงปลงใจร่วมกัน 100 เปอร์เซ็นต์

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยกรณีที่ประชุม ทปอ.เสนอยุบสภา และตั้งรัฐบาลรักษาการว่า ก่อนจะไปถึงยุบสภาต้องมี 2 ประเด็นแรกเล็กๆ ก่อน คือ เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) 24 มหาวิทยาลัยมาประชุมกัน มีข้อสรุป 3 ประการ ประการแรก ประเมินสถานการณ์ตรงกันว่าเหตุการณ์ขณะนี้รุนแรงเกินกว่าที่เราจะยอมรับได้จากการปฏิบัติการของทุกฝ่าย ประการที่ 2 เราขอประณามเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนกระทั่งมีนักศึกษาเสียชีวิต และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ที่พึงจะได้รับการรับรองเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นสถานศึกษาจากหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของรัฐ และประการที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องของการหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งเราพูดเสมอว่าถ้าพูดคำว่ายุบสภาลอยๆ จะไม่ใช่ทางออก การยุบสภาจะจบลงด้วยการเลือกตั้งใหม่โดยรัฐบาลรักษาการชุดเดิม ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างที่ต้องการได้ จึงเสนอเงื่อนไขที่เรียกว่ายุบสภาโดยมีเงื่อนไขบวกพร้อมกัน โดยมีรัฐบาลรักษาการ

ทั้งนี้ การมีรัฐบาลรักษาการจะมีเวลาทำงาน 60 วัน โดยทุกอย่างที่เสนอ เราเสนอทางออกอยู่บนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และตามกรอบกฎหมายเท่าที่สามารถจะเปิดช่องให้เราแก้ปัญหาวิกฤติได้ ซึ่งสอดคล้องกัยนายกรัฐมนตรีพูดว่ายินดีจะลาออก ยุบสภา หรือกระทำการใดๆ ก็ได้ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ท่านเองจะไม่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เป็นไปไม่ได้ แต่ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งกล่าวไว้ว่าตอนนั้นยังหาช่องทางในทางกฎหมายไม่พบ ในฝ่ายผู้ชุมนุมก็เสนอทางออก ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้กรอบกฎหมายข้อใด

ที่ประชุมอธิการบดีเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายเสนอหลักการมาตรงกันแล้ว คือเห็นแก่ความสงบสุข และอยากจะหาทางออก แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เราจึงใช้วิชาการทางด้านกฎหมายช่วย ซึ่งสรุปอย่างนี้ว่า เมื่อยุบสภา โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดทันทีว่าให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ และจะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร มีแต่วุฒิสภา นายกรัฐมนตรีสามารถที่จะขอลาออกได้ แล้วให้มีการตั้งรักษาการจากคนกลางที่ไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งไม่ได้กำหนดตัวบุคคลให้ไปตกลงกันเอง ถ้าได้ตัวบุคคล เลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใน 60 วัน จะทำให้รัฐบาลรักษาการไม่มีตัวแทนของนักการเมือง ซึ่งจะมีการขัดกันของผลประโยชน์ที่จะกล่าวหากันไปกล่าวหากันมาว่าได้เปรียบเสียเปรียบ ก็ให้ทุกพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งใน 60 วันข้างหน้า

ส่วนรัฐบาลรักษาการทำ 2 ข้อพอแล้ว 1. ดึงความสงบกลับมาเข้ามาทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุมก็จะยุติ เพราะว่าได้รัฐบาลรักษาการแล้ว 2. รีบทำการภายใน 60 วัน ให้ทันหลักการสำคัญ 4-5 ข้อ ที่เมื่อเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าพรรคใดกลับมาเป็นรัฐบาล พรรคที่แพ้ทั้ง 2 พรรค ก็จะยอมรับหลักการนี้ไปเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปี จะได้ไม่ต้องมีเรื่องอีกอย่างน้อยอีก 4 ปีข้างหน้า หลักการนั้น เช่น 1. จะยอมรับผลการเลือกตั้งโดยที่จะมีหน่วยงานกลางเข้าไปอยู่ในคูหา ควบคุมดูแลการเลือกตั้ง เช่น อาจจะให้นิสิตนักศึกษา ภาคธุรกิจอาจจะให้อะไรต้องไปตกลงกัน 2. กฎหมายอะไรที่เราเห็นพ้องต้องกันว่าไม่อยากให้ออก เช่น การนิรโทษกรรมให้กับการคอร์รัปชั่น ก็ให้ประกาศเป็นสัตยาบันร่วมกันโดยกรรมการชุดนี้ภายใน 60 วัน และอาจจะมีข้ออื่นๆ อีกแล้วแต่สังคมจะเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการวางหลักการสำคัญ เพื่อให้ไปสู่การเลือกตั้ง แล้วการเลือกตั้งนั้นผู้แพ้ผู้ชนะพร้อมจะยอมรับผลการเลือกตั้งไปอย่างน้อย 4 ปี แล้วในระหว่าง 4 ปีนั้นค่อยมาคิดถึงเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวมีการเสนอทางสาธารณะผ่านสื่อ โดยได้รับเสียงตอบรับมากทั้งจากเสียงตอบรับฝั่งรัฐบาล และแกนนำฝั่งผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินว่าแนวทางที่ ทปอ.เสนอขณะนี้ เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ยังไม่ถึงขั้นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตกลงปลงใจร่วมกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งไม่กี่วันที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะยอมเสียสละตัวเองเพื่อชาติอีกคนละนิด แล้วก็อาจจะเข้าสู่เส้นทางที่เราเสนอได้ ขณะที่ผู้ประสานน่าจะให้ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคเอกชนที่มีสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารฯ และร่วมกับทางฝ่ายดูแลความสงบก็ได้ อย่างเช่น 3 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ คือให้เป็นผู้ประสานที่ประกอบด้วยองค์คณะมากกว่าเป็นรายบุคคล จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดความสบายใจขึ้นว่าผู้ประสานเห็นแก่ประเทศชาติจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง