บทบาทภาคธุรกิจในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เศรษฐกิจ
13 ธ.ค. 56
02:12
471
Logo Thai PBS
บทบาทภาคธุรกิจในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

การแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลจากภาคธุรกิจ ที่ผ่านมามีไม่มากนัก ต่างจากปัจจุบัน ที่พวกเขาตื่นตัว และคัดค้านพฤติกรรมของนักการเมืองที่ส่อไปในทางทุจริต นอกจากบทบาทด้านเศรษฐกิจแล้ว พวกเขายังพร้อมร่วมแก้ปัญหา ความขัดแย้งของประเทศในขณะนี้ด้วย โดยการจัดเวทีกลางครั้งแรกในวันนี้ เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน

หลังจากมติสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลุ่มนักธุรกิจส่วนหนึ่ง ได้ออกมาคัดค้านอย่างชัดเจน ถ้ายังจำกันได้ ก็คือ การเป่านกหวีดที่บริเวณแยกราชประสงค์ แต่หลังจากนั้น ปัญหาการเมืองไม่มีทีท่าว่าจะยุติความขัดแย้งได้ ภาคเอกชนหลัก 7 สถาบันของประเทศ จึงได้ร่วมตัวกัน เสนอทางออก

ในการหารือครั้งแรกของภาคเอกชน 7 สถาบัน พวกเขามีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจสังคม และความเชื่อมั่นในหลายภาคส่วน ทั้งด้านการค้า, อุตสาหกรรม, การบริโภค, การท่องเที่ยว และการลงทุนของประเทศ

ในครั้งนั้น พวกเขามีข้อเรียกร้องร่วมกัน 4 ข้อ ซึ่งก็คือ ภาคเอกชนพร้อมร่วมกับทุกฝ่ายหาทางออกให้ประเทศ โดยปัญหาความขัดแย้งควรแก้ไขด้วยการเจรจา ส่วนการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้ง เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเจรจากัน เพื่อหาข้อยุติเบื้องต้นก่อน

ห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ภาคเอกชน 7 สถาบัน ต้องมีการประชุมเร่งด่วน หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยุบสภา ท่าทีของพวกเขาชัดเจนขึ้น

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า ภาคเอกชน 7 สถาบันไม่ใช่เป็นแกนนำการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหา โดยคณะทำงานในส่วนของเอกชน จะไม่มีใครเป็นประธาน แต่จะเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ไม่เน้นผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ภาคเอกชน 7 สถาบัน ได้มีการหารือกับ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กปปส. ด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งภาคเอกชน บอกว่า มีความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดีขึ้น แต่บางเรื่องก็ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชน 7 สถาบัน บอกว่า มีความเห็นที่ตรงกันว่า ควรจะต้องมีการปฎิรูป และจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความมั่นคงและเดินไปด้วยกันได้ นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น บอกว่า หลายเรื่องเข้าใจดีขึ้น แต่บางเรื่องยังไม่ชัดเจน เช่น ที่มาของสภาประชาชน แต่ก็เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหากพบปะกันต่อเนื่อง ข่อมูลต่างๆ ก็จะมีความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนกลุ่มนี้ มองว่า เบื้องต้น ถ้ายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของรากหญ้าได้ ทั้ง 7 องค์กร จึงจะมีการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันในวันนี้ (13 ธ.ค.) เวลา 11.00น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง