ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Logo Thai PBS
ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศิลปะถูกใช้วิพากษ์สังคมมาทุกสมัย และพบได้ทั่วโลก หากนิทรรศการต่อไปนี้จะได้เห็นมุมมองของ 40 ศิลปิน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกต่อปัญหาในบ้านเกิด

ใบปลิวโฆษณาเงินกู้นอกระบบที่เก็บได้ทั่วไปในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ถูกนำมาเรียงเป็นตัวอักษร เอ็น อี พี ชื่อนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของมาเลเซีย ช่วงปี 1971-1990 ผลงานศิลปะจัดวางของศิลปินชาวมาเลเซีย ที่ใช้เพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลที่ก่อหนี้มากมายให้ประชาชน

 

เช่นเดียวกับหินเล็กๆ ในแก้วใส ที่ทาว เหงียนพาน ศิลปินสาวชาวเวียดนาม ขอบริจาค นิ่วของผู้ป่วย จากโรงพยาบาลท้องถิ่น เพื่อสร้างผลงานศิลปะ ไม่เพียงสื่อถึงโรคที่เกิดจากความไม่สะอาดของน้ำและอาหารแต่ยังต้องการ สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงโรงพยาบาลของคนจนในบ้านเกิด ส่วนหนึ่งในผลงานร่วม 50 ชิ้น จาก 40 ศิลปินอาเซียน ที่ตั้งคำถาม ไปจนถึงวิพากษ์สังคมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ใน นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน ศิลปะและส่วนรวมในอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

แม้จะต่างที่รูปแบบ แต่สิ่งที่ศิลปินนำเสนอ ยังบ่งบอกถึงบริบทในแต่ละประเทศที่แทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะการต่อสู้เพื่อเอกราช หรือระบอบการปกครองที่เท่าเทียม แต่ยังรวมถึงปัญหาในสังคมที่ถูกละเลย ศิลปินจำนวนไม่น้อย จึงใช้งานศิลปะเป็นเครื่องขับเน้นประเด็นต่างๆใหคนในชาติหันมาให้ความสำคัญ

นำวาทกรรมทางการ เมืองไทยซึ่งอาจถูกหลงลืมไปแล้วอย่าง "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" สมัย 6 ตุลาคม 2519 ไปจนถึง "บกพร่องโดยสุจริต" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากคดีซุกหุ้น ปี 2544 มาแกะสลักลงโต๊ะเรียนแล้วให้ผู้ชมลอกลายเก็บกลับบ้าน เป็นกุศโลบายของศิลปินให้จดจำบทเรียนในอดีตประวัติศาสตร์จะได้ไม่ซ้ำรอยไปมากกว่านี้

 

ยังมีผลงานของศิลปินไทยที่สื่อสารประเด็นการเมืองผ่านศิลปะอย่าง มานิต ศรีวานิชภูมิ และ วสันต์ สิทธิเขตต์ ซึ่งหลายชิ้นเคยสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย นิทรรศการมโนทัศน์ บริบท การต่อต้าน ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึงวัน 2 มีนาคม 2557


ข่าวที่เกี่ยวข้อง