การเข้าถึงสิทธิการศึกษาเด็กข้ามชาติ
เกเวีย เด็กหญิงเชื้อสายพม่า อายุ 13 ปี ติดตามพ่อแม่ซึ่งเข้ามาทำงานประมงใน จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ตอนนี้เธอมุ่งมั่นให้กับการเรียนอย่างเต็มที่ เพราะอีกไม่ช้าก็จะจบการศึกษาชั้น ป.6 จาก ร.ร.หลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์ จ.สมุทรสาคร ไม่ต่างจาก มอญ อายุ 16 ปี ที่ตั้งใจเรียนไม่แพ้เพื่อนคนอื่นๆ ในห้องเรียน ทั้งเกเวีย และมอญเห็นตรงกันว่าการได้เรียนหนังสือทำให้ได้รู้ภาษาไทย เพื่อจะมีโอกาสนำความรู้ไปประกอบอาชีพในอนาคต
กว่า 9 ปีแล้วที่รัฐบาลมีนโยบายให้เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องได้เข้าเรียน ปัจจุบันก็พบว่าสถานศึกษาหลายแห่งมีแนวโน้มเปิดโอกาสให้กับเด็กข้ามชาติเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งที่ ร.ร.หลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์ มีสัดส่วนบุตรแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนมากกว่าร้อยละ 60 และทุกคนได้รับสิทธิเทียบเท่าเด็กไทย เช่น เงินอุดหนุนรายหัว แม้ช่วงแรกการสื่อสารระหว่างนักเรียนกับครูจะถือเป็นปัญหาสำคัญ แต่เมื่อผ่านปีแรกไปได้ การเรียนการสอนจะทำได้ตามปกติ
แม้สถานการณ์ด้านการศึกษาของบุตรแรงงานข้ามชาติจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังพบว่าในจำนวนบุตรแรงงานกว่า 250,000 คน มีไม่ถึงครึ่งที่เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยกว่า 61,000 คน เข้าเรียนโรงเรียนสังกัดรัฐบาล และเข้าสู่การศึกษารูปแบบอื่นๆ แต่ยังมีเด็กอีกกว่า 165,000 คนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานยอมรับว่าการยิ่งออกห่างจากระบบการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อปัญหาการค้าแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และล่วงละเมิดทางเพศ
พรุ่งนี้ จะเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล องค์กรแรงงานเอกชน จึงมีข้อเสนอด้านการศึกษาที่อยากเห็นสถานศึกษาทุกระดับปรับทัศนคติ ยอมรับ และเปิดโอกาสให้เด็กข้ามชาติมีสิทธิเข้าสู่ระบบการศึกษา และเตรียมความพร้อมในระยะยาว รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต