ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปชป.กับปัจจัยการ "บอยคอต" เลือกตั้ง

18 ธ.ค. 56
14:40
367
Logo Thai PBS
ปชป.กับปัจจัยการ "บอยคอต" เลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมอดีต ส.ส.ร่วมประเมิน และกำหนดทิศทางทางการเมืองของพรรคในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่ หลังมีรายงานว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นแตกออกเป็น 2 ทาง จึงไม่เพียงแต่จะยึดข้อกฎหมาย เพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเมืองที่จะต้องใหม่ที่สุด เพื่อการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ซึ่งอยู่ในระดับอาวุโส และมีบารมีความเชื่อมั่นทั้งภายในพรรค และนอกพรรค รวมถึงนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เวลานี้ เป็นเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่จะร่วมตัดสินใจครั้งสำคัญว่าพรรคจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่

แม้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ 35 คน จำนวนกึ่งหนึ่ง จะเห็นว่าควรลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อรักษาสถานภาพของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และรักษาเกียรติภูมิของพรรคในระยะยาวต่อไปด้วย แต่อีกกึ่งหนึ่งเห็นว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะทำให้พรรคเสียฐานเสียงทางการเมืองที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า กปปส. โดยเฉพาะฐานเสียงสำคัญของพรรคในพื้นที่ภาคใต้

ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีที่ กปปส.นัดชุมนุมเคลื่อนขบวนกดดันนายกรัฐมนตรี และครม.รักษาการอีกครั้ง ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ โดยชี้ว่าอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าได้ และเห็นว่านายกรัฐมนรีต้องเร่งตัดสินใจก่อนเหตุจะบานปลาย แต่สำหรับบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์กลับบอกว่าไม่สำคัญเท่ากับบทบาทของประชาชน

แต่เป็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะเรียกประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อกำหนดทิศทางของพรรคใน 24 ชั่วโมง ก่อน กปปส.จะเคลื่อนกดดันรัฐบาลในเช้าวันรุ่งขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะ "ประชาธิปัตย์" ไม่เพียงแต่จะต้องใช้ฐานคิด และใช้ข้อมูลทางการเมืองในอดีตที่มีการปฏิเสธการเลือกตั้งในปี 2500 และปี 2549 ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ มาประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

แต่ "ประชาธิปัตย์" ยังต้องใช้ปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบัน ตั้งแต่ข้อบัญญัติกฎหมาย องค์ประกอบของพรรคการเมือง และนวัตกรรมทางการเมือง ซึ่งหมายถึงท่าทีของพรรคแนวร่วม และพรรคฝ่ายตรงข้าม "เพื่อไทย" ว่าจะส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 หรือไม่

ข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณามี 2 ประเด็นหลัก คือเงื่อนไขที่ว่าด้วยการเลื่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จนนำมาซึ่งการวินิจฉัยของ กกต.ให้เลื่อนการเลือกตั้ง และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเลื่อนคราวละ 30 วัน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ปี 2550

ด้วยเหตุนี้ "ประชาธิปัตย์" อาจเห็นว่าปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผัน และกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน ดังนั้น ไม่เพียงข้อมูลที่หลากหลาย แต่ยังหมายถึงข้อมูลที่ต้องใหม่ที่สุด ที่จะเป็นปัจจัยกำหนดทางเลือกของพรรคในครั้งสำคัญครั้งนี้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง