สื่อมวลชนหลายสำนักถูกคุกคาม
หลังจากนั้นนายวราวิทย์ พยายามเดินหนีมวลชน ขึ้นไปอยู่บนรถของสำนักข่าวทีนิวส์ ไม่นาน นายสมศักดิ์ โกไศยสุข หนึ่งในแกนนำกปปส. เดินทางมาถึง ใช้เวลาทำความเข้าใจกับมวลชนเกือบ 10 นาที จึงพานายวราวิทย์ ออกจากรถได้
ขณะที่ เพ็ญพรรณ แหลมหลวง รับหน้าที่รายงานบรรยากาศการชุมนุม กปปส. ของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.56) หลังจากรายงานเสร็จ ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมล้อม และต่อว่า ระบุว่า เธอรายงานจำนวนผู้ชุมนุม 3,000 คน แม้พยายามยืนยัน ไม่ได้รายงานตัวเลข แต่ก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม สาดน้ำที่หน้า ชกแขน และดึงไม่ให้ขึ้นรถออกนอกพื้นที่
การรายงานสด ทำให้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ ทั้งป้ายข้อความแสดงถ้อยคำไม่สุภาพ การส่งเสียงโห่ร้อง หรือเป่านกหวีด แม้ว่าผู้สื่อข่าวจะพยายามเคลื่อนที่ ระหว่างการรายงานสด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกห้อมล้อมจากผู้ชุมนุม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สื่อมวลชนส่วนใหญ่จึงยอมรับว่า การเผชิญกับอารมณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องพยายามควบคุมสติ และความรู้สึกให้มากที่สุด
สถานการณ์การกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนหลายครั้งในระยะนี้ ทำให้บ่ายที่ผ่านมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. และนายเอกนัฐ พร้อมพันธ์ โฆษก กปปส. หารือร่วมกันกับ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ข้อสรุปและแนวทางการดูแลสื่อมวลชนภาคสนาม เช่นจะมีการจัดพื้นที่สำหรับรถรายงานสดให้ทุกสถานี จะมีการ์ดเฉพาะดูแลสื่อมวลชน และจะทำความเข้าใจกับการ์ดและผู้ชุมนุมให้เข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้มากขึ้น