ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุริยะ" ลั่นไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 ไทยคุมงานเอง-ตรวจสอบทั้งระบบ

เศรษฐกิจ
2 เม.ย. 68
16:21
143
Logo Thai PBS
"สุริยะ" ลั่นไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 ไทยคุมงานเอง-ตรวจสอบทั้งระบบ
อ่านให้ฟัง
07:48อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สุริยะ" เผยรถไฟไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 "โคราช-หนองคาย" ไทยคุมงานเองทั้งหมดและใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100% ยืนยันมีมาตรฐานสากล ด้านผู้ว่าการรถไฟฯ ชี้เฟส 1 “กรุงเทพ-โคราช” โครงสร้างแข็งแรง ใช้เหล็ก “ทาทา สตีล” คาดผลสอบเหล็กสรุปใน 2 วัน

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 32 (JC) เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.2568 โดยเป็นการประชุมรูปแบบออนไลน์

วันนี้ (2 เม.ย.2568) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยฝ่ายจีนได้เร่งรัดเนื่องจากการก่อสร้างมีความล่าช้า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน

จากนั้นจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาและก่อสร้างภายในปี 2568 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ กับ สปป.ลาวและจีน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้อีก 4 ข้างหน้าหรือปี 2572

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ทางการจีนเสนอว่าจะเป็นผู้ตรวจแบบก่อสร้าง และมีค่าใช้จ่ายในการตรวจแบบการก่อสร้างตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงจีน โดยเจรจาวงเงินมาอยู่ที่ วงเงิน 250 ล้านบาท

ฝ่ายไทยจะควบคุมงานก่อสร้าง ออกแบบและตรวจแบบเองทั้งหมด โดยจะใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100% ตรวจสอบทั้งระบบ ซึ่งเชื่อมั่นความสามารถของวิศวกรไทย เป็นไปตามมาตรฐานสากลและฝ่ายจีนยอมรับได้

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ รฟท. และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำกับติดตามอย่างเข้มงวดให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดียวกับกรณีตึก สตง.ถล่ม

ทั้งนี้ การประกวดราคาเฟส 2 จะไม่ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) จะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย โดยยืนยันว่าเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ส่วนประเด็นเรื่องการประมูลที่บริษัทที่เป็นนอมีนีจีน มักจะเลี่ยงการตรวจสอบ โดยการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบกิจการร่วมค้า นายสุริยะ ยืนยันว่า จะดำเนินการโดยใช้ผู้รับเหมาไทยทั้งหมด และหลังจากนี้จะตรวจสอบเข้มข้นเพื่อจะได้ไม่เกิดลักษณะที่ใช้ช่องโหว่เข้ามา

            "ยืนยันว่าโครงการรถไฟไทย-จีน ไม่ได้เป็นประกาศประกวดราคานานาชาติ ซึ่งโครงการนี้ CREC NO.10 เข้ามาร่วมในรูปแบบกิจการร่วมค้า หากดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างก็สามารถเข้ามาได้ตามกฎหมาย แต่หลังจากนี้หากกรมบัญชีกลางออกระเบียบเงื่อนไขการก่อสร้าง เช่น หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็จะมีกฎเกณฑ์ขึ้นแบบแบล็กลิสต์"

นายสุริยะ ยังชี้แจงประเด็นเรื่องเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หากผู้ผลิตที่ขายสินค้าอยากจะได้มาตรฐานก็ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ สมอ.และจะมีการสุ่มตรวจว่าโรงงานทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่

ส่วนกรณีที่เกิดเหตุ สมอ. ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน แต่เป็นการตรวจช่วงหลังแล้ว จึงได้หารือกับ รมว.อุตสาหกรรม ว่าจำเป็นจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งกรณีนี้มีการทำแบล็กลิสไปแล้ว แต่แอบมาเปิดใหม่ โดยหลังจากนี้จะตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะกำหนดให้ใช้วัสดุในประเทศ 100% โดยเฉพาะเรื่องการทดสอบวัสดุก่อสร้าง จะต้องมีการตรวจรับรองคุณภาพทุกขั้นตอน ส่วนขั้นตอนการควบคุมงานก่อสร้างของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 มีมาตรฐานสูง ก่อนจะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้จะต้องทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทยคือการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด

ขณะเดียวกันเมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้าง จะต้องเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ รวมถึงสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทดสอบตามข้อกำหนด อีกทั้งผู้ควบคุมงานจะสุ่มตรวจจำนวนและขนาดเหล็กก่อนเทคอนกรีตด้วย

ตั้งแต่ตอนเริ่มก่อสร้างจะตรวจสอบวัสดุ โดยเฉพาะเหล็กเป็นของทาทาสตีล ซึ่งเป็นสเปกที่อยู่ในสัญญา เพราะฉะนั้นไม่มีเหล็กคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจ ทีมวิศวกรและบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องโครงสร้างและเก็บตัวอย่าง พร้อมขอความร่วมมือสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยตรวจสอบ คาดว่าจะได้ผลภายใน 2 วัน

ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยยืนยันว่าดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ขณะที่โครงสร้างเหล็กต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล และได้รับรายงานว่าโครงการนี้ใช้เหล็กของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโครงการ ได้ทำการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหว

ขณะที่การตรวจสอบสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้างเป็น บจ.กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 ขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็ก รวมถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ ดำเนินการตรวจสอบแล้วและคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 วัน

อ่านข่าว

จนท.โยธาฯ-สตง.เก็บตัวอย่างวัสดุ-เหล็ก ตรวจหาสาเหตุตึกถล่ม

เปิด 13 โครงการรัฐไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ชนะประมูล

นักวิชาการจับตา “3 รอยเลื่อน” ชี้กระทบแรง เพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินอ่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง