สรุปบันเทิงเด่นปี 2556 : การเมืองรอยร้าววงวรรณกรรม
กระแสความขัดแย้งแตกต่างทางความคิด เป็นสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ตลอดทั้งปี 2556 แม้กระทั่งในวงการวรรณกรรม ซึ่งมีความขัดแย้งคุกรุ่นมาตลอดทั้งปี ถึงขั้นแตกหักแบ่งวงการนักเขียนออกเป็นสองปีก โดยจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน มาจากการประกาศผลรางวัลวรรณกรรมการเมือง พานแว่นฟ้า
ตั้งใจเป็นอีกหนึ่งเวทีให้ผลงานวรรณกรรม ได้เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หากผลตอบรับและความรู้สึกของคนในวงวรรณกรรมต่อรางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้ กลับสะท้อนความแตกแยกที่เกิดขึ้นในหมู่นักเขียนตั้งแต่การตบเท้าลาออกของกรรมการจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ถึง 14คน นำโดยนายกสมาคมอย่าง เจน สงสมพันธุ์ ที่ขัดแย้งทางความคิดกับคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองโดยรัฐสภา อย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร, ไม้หนึ่ง ก.กุณฑี และ วาดระวี // ไม่เพียงเกิดข้อถกเถียง และการตอบโต้ของสองฝั่ง บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ สื่อสิ่งพิมพ์ แต่ดูเหมือนเหตุการณ์นี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนความขัดแย้งในวงวรรณกรรม
ใครบางคนเปรียบว่าข้าคือเบี้ย ต่ำเตี้ยสุดบนกระดานการเมืองถ่อย เป็นไพร่พาลด่านหน้าค่าเพียงน้อย, จักกี่ร้อยกี่พันไม่ทันกล, บทแรกจากกวีนิพนธ์สะท้อนภาพการเมืองปัจจุบันได้อย่างแหลมคม ผลงานของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ที่ชนะในเวทีพานแว่นฟ้าปี 2556 หากกวีนิพนธ์บทนี้กลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลที่ย้ำรอยร้าวในวงวรรณกรรม เมื่อตกเป็นเป้าโจมตีว่าผิดกติกาการประกวดเพราะยาวถึง 14 บท 2 วรรค ผิดจากกติกาที่กำหนดไว้ และถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงแม้แต่ ศิริวร แก้วกาญจน์ อดีตคนเคยได้รางวัลเวทีนี้ ยังแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่า "รัฐประหาร-รางวัลพานแว่นฟ้า! ยึดอำนาจทางปัญญา กรรมการพานแว่นแดง คว่ำกติกาการตัดสิน ขณะเดียวกันนักเขียนอีกกลุ่มกลับเห็นว่า คำตัดสินเป็นสิทธิ์ขาดของกรรมการ แต่การปะทะกันผ่านหน้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ทำให้หลายคนมองหน้ากันไม่ติด
มีคำกล่าวว่าวงการนักเขียนผูกพันกันด้วยความรักในงานวรรณกรรม จนนักเขียนฉายาพญาอินทรีอย่าง "รงค์ วงษ์สวรรค์" กล่าวถึงความผูกพันของคนวงการนี้ว่า เป็นดั่ง "ญาติน้ำหมึก" หากความขัดแย้งในครั้งนี้ อาจกลายเป็นรอยร้าวที่ไม่มีวันสมานได้อีก เมื่อมีทั้งกระแสข่าวถึงการตั้งองค์กรนักเขียนเป็นตัวแทนอีกกลุ่ม และการปฏิเสธไม่ร่วมงานใดๆ ของนักเขียนทั้งสองฝั่ง ที่สุดเวลาอาจเป็นทั้งคำตอบและเครื่องเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้น