เมียนมายอมร่วมถกแก้ปัญหาโรฮิงญาอพยพ
วันนี้ (18 พ.ค. 2558) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาว่า รัฐบาลเมียนประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่เดือดร้อนที่อยู่กลางทะเล และตอบตกลงส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พ.ค. 2558 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลังจากก่อนหน้าเมียนมาปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม พร้อมกล่าวโทษไทยว่าไร้ประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ จนทำให้ปัญหาบานปลาย
ด้าน นายอะนิฟาห์ อะมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย และ นายเรทโน่ มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เตรียมเดินทางไปกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาวันนี้ (18 พ.ค. 2558) เพื่อหารือร่วมกับทางการเมียนมาถึงแนวทางแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาร่วมกัน โดยการหารือดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่เมียนมายอมร่วมเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง เช่นเดียวกับ นายแอนโทน บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมเข้าหารือกับคณะผู้นำของเมียนมาในวันนี้ (18 พ.ค. 2558)
นอกจากนี้มีรายงานว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะแสดงบทนำในการให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีองค์การสหประชาชาติเป็นแกนนำ และเตรียมผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในรัฐยะไข่ และยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ขณะเดียวกันก็ต้องการให้รัฐบาลเมียนมาร่วมมือกับรัฐบาลบังคลาเทศ เข้าช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ลอยลำอยู่ในทะเล อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 มีผู้อพยพชาวโรฮิงญามากกว่า 1,000 คน ได้รับความช่วยเหลือให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ
ขณะที่ รัฐบาลแกมเบีย ประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตก ออกแถลงการณ์ว่า พร้อมที่รับผู้อพยพชาวโรฮิงญาทั้งหมดไปดูแล เพราะถือเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวมุสลิม โดยรัฐบาลจะตั้งศูนย์ผู้ลี้ภัยไว้ดูแลคนเหล่านี้
โดยรัฐบาลแกมเบียเรียกร้องให้ประชาคมโลก ร่วมกันบริจาคเต็นท์ เตียง อุปกรณ์สำหรับใช้ในครัวเรือน และยารักษาโรคไปยังรัฐบาลของแกมเบีย เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนการโยกย้ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้าไปในประเทศ เพราะรัฐบาลแกมเบียเป็นประเทศที่ยากจนในแอฟริกา
นายโทนี แอ็บบอต นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศว่า ออสเตรเลียจะไม่รับผู้อพยพจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าประเทศ เนื่องจากจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย เพราะถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดผู้อพยพทางเรือมากขึ้น โดยวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการทำให้เกิดความชัดเจนว่า การอพยพทางเรือไม่สามารถทำให้ผู้อพยพได้สิ่งที่ต้องการคือการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศตะวันตก