ผลวิจัยชี้ “อาชีพรับจ้าง” คนเครียดมากสุด

สังคม
8 ก.ค. 54
02:00
131
Logo Thai PBS
ผลวิจัยชี้ “อาชีพรับจ้าง” คนเครียดมากสุด

ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนและภัยธรรมชาติรุมเร้าแบบนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะความเครียด ซึ่งทาง สสส.ได้สรุปข้อมูลจากการรวบรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มลูกจ้างบริษัทเอกชนและคนทำงานรับจ้างทั่วไปมีความเครียดสูงสุด

ข้อมูลด้านสุขภาพจิตของคนทำงานอาชีพต่างๆ ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนทำงานรับจ้างมีสุขภาพจิตต่ำที่สุด เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง และมีรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลให้จิตใจเป็นไปในทางลบ โดยได้คะแนนเพียง 30.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 45 คน
 
ใกล้เคียงกันเป็นของคนที่ทำงานอาชีพแม่บ้านและพนักงานบริษัทเอกชน โดยได้คะแนนเพียง 31.1 คะแนน
 
ส่วนอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้คะแนนสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากมีความมั่นคงทางอาชีพการงาน ส่งผลต่อความมั่นคงทางจิตใจของคนทำงานด้วย
 
ซึ่งผลจากภาวะความเครียดส่งผลให้แรงงานไทยเกือบ 1 ใน 10 ตั้งแต่ระดับผู้ใช้แรงงานจนถึงคนทำงานบริษัท มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากคุณภาพชีวิตไม่ดีพอ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูง
 
โดยสถิติตั้งแต่ปี 2548-2553 พบว่า วัยทำงานอายุระหว่าง 15-59 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 7.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในจำนวนนี้กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 25-59 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 4.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมากกว่ากลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.2 คนต่อประชากร 100,000 คน
 
สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ ผิดหวังในเรื่องความรัก, ประสบกับปัญหาการเล่าเรียน และปัญหาทางด้านครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 4 เท่าตัวของการฆ่าตัวตายของทุกปี
 
น.ส.สิริกร เค้าภูไทย นักวิชาการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนับเป็นความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในวัยทำงานถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต จึงควรมีนโยบายแก้ปัญหาสังคมและสุขภาพจิตให้ตรงจุด พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ อาชีพรับจ้างรายวัน ซึ่งมีความบีบคั้นและความยากลำบากในการดำรงชีวิตมากที่สุด
 
ด้านศาตราจารย์เกียรติคุณอภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางครอบครัว เช่น การหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ การเป็นผู้ว่างงานหรือลูกจ้างเอกชน รายจ่ายของครัวเรือนสูง ครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบ ล้วนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต พร้อมแนะนำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายที่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีรายได้แน่นอน และเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ จึงจะสามารถสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง