ตร.ปล่อยตัวนักศึกษากว่า 30 คน ทำกิจกรรม 1 ปี รัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ แล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 6.10 น. วันนี้ (23 พ.ค.2558) เฟซบุ๊ก "พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen" เปิดเผยว่านักศึกษาและนักกิจกรรมที่ร่วมทำกิจกรรมในวาระครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ภายใต้ชื่อ "ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?" ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลป์ กรุงเทพฯ) ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน จำนวนกว่า 30 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว โดยที่ไม่มีการตั้งหา แต่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นชื่อเพื่อรับเงื่อนไขหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง
การควบคุมตัวนักศึกษาที่มาทำกิจกรรมที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ วานนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ตำรวจ สน.ปทุมวันได้เสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่จัดกิจกรรมและเริ่มควบคุมตัวนึกศึกษาบางส่วน โดยรอบแรกมีนักศึกษาถูกควบคุมตัวไป 9 คน ทำให้นักศึกษาคนอื่นที่ร่วมกิจกรรมไม่พอใจจึงนั่งล้อมวงและส่งเสียงเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวเพื่อน จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวนักศึกษาเพิ่มเติมอีก 5 คน จนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. มีนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวเพิ่มเป็นอย่างน้อย 30 คน ทั้งหมดถูกนำตัวไป สน.ปทุมวัน โดยมีรายงานระบุในภายหลังว่าถูกควบคุมตัวไปทั้งหมด 37 คน
มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ยื่นเงื่อนไขว่าให้นักศึกษาจำนวน 37 คน ให้ความร่วมมือในการสอบสวน และจะดำเนินคดีเพียง 8-9 คน ที่มีประวัติการชุมนุมเท่านั้น แต่กลุ่มนักศึกษายืนยันว่าต้องปล่อยตัวทั้งหมด โดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ ขณะที่ ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และนายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ได้เดินทางมาร่วมเจรจากับเจ้าหน้าที่ด้วย โดยตลอดคืนที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาให้กำลังใจและจุดเทียนเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา
ขณะที่ พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 กล่าวว่าพนักงานสอบสวนนำกลุ่มนักศึกษาทั้งหมด 33 คน ทยอยให้ถ้อยคำในฐานะพยานกับพนักงานสอบสวนไว้ก่อน หลังจากให้ถ้อยคำเสร็จสิ้นทางพนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้านได้ทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาภาพจากกล้องวงจร พร้อมสอบปากคำพยานแวดล้อมและหลักฐานอื่นๆ หากบุคคลใดกระทำความผิดก็จะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการเรียกร้องจากกลุ่มองค์กรที่ออกแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อและปล่อยตัวนักศึกษา 34 คน ที่ถูกควบคุมตัวที่หน้าหอศิลป์ฯ ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และเยียวยาการกระทำที่เกิดขึ้นโดยทันที ขณะที่กลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ นักคิด นักเขียน และประชาชน ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวทันที ทั้งจากกรณีที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่น