สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 13) : รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 7
รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 7 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2502
หลังทำการยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังคงใช้ระบบรัฐสภามาระยะหนึ่ง มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นซึ่งพล.ท.ถนอม กิติขจร ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในสภาก็ยังวุ่นวายเพราะบรรดา ส.ส.เรียกร้องแต่ผลประโยชน์ สุดท้ายจึงเกิดการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 7 เรียกได้ว่า เป็นการยึดอำนาจตัวเอง
หลังยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญนั้นถูกยกเลิกประเทศไทยจึงไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นเวลานานถึง 101 วัน จนในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2502" ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 7 ที่นักประวัติศาสตร์ทางการเมืองถือว่าเป็น "เผด็จการ" เต็มรูปแบบ เหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถสั่งการอะไรก็ได้ โดยถือว่าทุกคำสั่งถูกกฎหมาย เช่น สามารถสั่งประหารชีวิตหรือสั่งยึดทรัพย์ใครก็ได้
ในช่วงเวลานี้ได้มีการจัดตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมาเป็นคณะที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างไรก็ตามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 240 คน ล้วนเป็นทหารและข้าราชการทั้งสิ้น
สุดท้ายเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จและประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 จึงถือเป็นวันสิ้นสุดการใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2502” ที่บังคับใช้ ยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน