ชี้คำวินิจฉัยศาลโลก ทำเขมรหงุดหงิด เหตุเสียเปรียบถูกกินพื้นที่ถอนกำลังมากกว่าไทย

ภูมิภาค
19 ก.ค. 54
08:59
15
Logo Thai PBS
ชี้คำวินิจฉัยศาลโลก ทำเขมรหงุดหงิด เหตุเสียเปรียบถูกกินพื้นที่ถอนกำลังมากกว่าไทย

มติให้สองฝ่ายถอย กำหนดเขตปลอดทหาร เพราะไม่อยากใช้เส้นแบ่งเขตแดน ที่เอ็มโอยูระบุชัดยังเป็นปัญหา

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า จากมติที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ระบุให้ไทยและกัมพูชา กำหนดพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว เพื่อลดการเผชิญหน้า โดยระบุ 4 จุดครอบคลุมพื้นที่เกือบ 19 ตารางกิโลเมตรว่า ตนได้มีโอกาสพบปะกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกระทรวงกลาโหม และกรมแผนที่ทหาร มีการพูดคุยทำความเข้าใจในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา หากยึดตามเส้นแบ่ง 1 ต่อ 200,000  ที่กัมพูชายึดพื้นที่จะต้องถอนทหารออกไปอยู่ในเขตกัมพูชาตามแผนที่ฝรั่งเศส คิดเป็นเนื้อที่ 14.3 ตร.กม. ส่วนในเขตไทยกินพื้นที่ 4.7 ตร.กม.

นายเสริมสุข ระบุอีกว่า หากยึดแผนที่ 1 ต่อ 50,000  ถือแนวเขตสันปันน้ำ จะอยู่ในพื้นที่เขตกัมพูชา 10.4 ตร.กม. และเป็นพื้นที่ในไทย 8.6 ตร.กม. สรุป ไม่ว่ายึดแผนที่ขนาดไหน ฝ่ายกัมพูชากระทบมากกว่าไทย และกำลังทหารที่ต้องถอนตัว รวมถึงกองบัญชาการใหญ่ ที่ฝ่ายเขมร ขนไปตั้งในพื้นที่ เพื่อเตรียมประจัญหน้ากับทหารไทยด้วย

"การปรับกำลังทหารออกทั้งสองฝ่าย นายทหารไทยบอกว่ากระทบกัมพูชามากกว่า เพราะมีกำลังทหารเขมรอยู่รอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารจำนวนมาก" นายเสริมสุข ระบุข้อมูลจากการพูดคุยกับนายทหารของไทยที่ร่วมไปฟังคำวินิจฉัยในศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีดังกล่าว มีการสอบถามกันว่า พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นมาตรการปลอดทหารชั่วคราว จนกว่าศาลโลกจะตีความคำร้องของกัมพูชาเสร็จสิ้น มีคำถามว่า คำสั่งให้ถอนทหารต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา ตามมาตรา 190 หรือไม่  ด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญา อธิบายว่า เป็นคำสั่งของศาลโลก ไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 ดังนั้นเพียงแจ้งให้ทางรัฐสภา ผ่านกรรมาธิการรับทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทางฝ่ายไทยมีการประเมินว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาลโลกตัดสินเช่นนี้ เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการพูดถึงเส้นเขตแดนที่ทั้งสองฝ่ายต่างยึดถืออยู่ โดยประเด็นการต่อสู้ของไทยในเรื่อง เอ็มโอยู (MOU) เป็นหลักฐานชั้นดี ทางกัมพูชาร่วมลงนามด้วยว่า เรื่องเขตแดน เป็นปัญหาที่ยังไม่มีความชัดเจน ศาลโลกจึงต้องกำหนดมาตรการให้สองฝ่ายปฏิบัติร่วมกัน  และประเมินกันว่าฝ่ายกัมพูชาน่าจะหงุดหงิดกว่าฝ่ายไทย เพราะไม่คาดว่าจะเจอคำสั่งศาลลักษณะเช่นนี้ ที่ผ่านมากัมพูชาประกาศมาตลอดว่าจะไม่ยอมถนอทหารออกจากดินแดนของตัวเอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง