สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 15) : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515
รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 9 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รัฐประหารตัวเองและยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 แล้ว ก็ได้นำธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 กลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่อีกครั้ง
เนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายกับฉบับเดิมที่ใช้ปกครองแบบสภาเดียว มีสมาชิก 299 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี รัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จมากที่สุด กฎหมายเอาผิดไม่ได้ (ระบุไว้ในมาตรา 17) มีการเพิ่มคำว่า "ป้องกัน" เข้ามา เท่านั้น แต่ทางปฏิบัติแทบจะไม่ต่างจากเดิมเลย
ข้าราชการประจำ สามารถมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ แต่สภานิติบัญญัติยุคนี้สามารถตั้งกระทู้ถามนายกในสภาได้ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูยฉบับที่ 7 ที่ไม่เปิดให้ตั้งกระทู้ถามนายกฯ
อำนาจการปกครองในยุคนี้อยู่ในมือของจอมพลถนอมและเครือญาติ คือ จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ที่เป็นลูกชายแท้ๆ ของจอมพลถนอม และเป็นลูกเขยจอมพลประภาส
เมื่อประเทศกลับสู่การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้ง ทำให้ประชาชน และนิสิต นักศึกษา เริ่มเกิดความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจของผู้นำ เช่น การต่ออายุราชการตัวเองของจอมพลถนอมแทนที่จะเกษียณอายุตามกำหนด แต่กลับยึดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้งการทุจริตคอรัปชั่นหรือกรณีที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารไปล่าสัตว์ป่า ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ที่นำไปสู่เหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมากกว่า 500,000 คน เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถนอม – ประภาส – ณรงค์" เดินทางออกนอกประเทศ
เมื่อไม่มีผู้บริหารประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์และองคมนตรีขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และนั่นคือจุดสิ้นสุดของ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 หรือ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2515" ที่บังคับใช้นาน 1 ปี 9 เดือน 21 วัน