สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 17) : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 11 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
จากการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงการเดินทางกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเหตุการณ์ "6 ตุลา 2519" พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจการปกครอง แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 11 ซึ่งมีบทบทบัญญัติเพียง 29 มาตราเท่านั้น
รัฐบาลนี้มีฉายาว่า "รัฐบาลหอย" เพราะนายกฯ ในสมัยนั้นเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "รัฐบาลเปรียบเสมือนเนื้อหอย มีเปลือกหอยซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง"
ส่วนที่น่าสนใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ มาตรา 18 ที่กำหนดให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษานายกฯ มาจากคนในกลุ่มที่ทำรัฐประหารด้วยกันเอง และนายกฯ มีสิทธิ์แต่งตั้งใครก็ได้ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนระบบการเมืองไปเป็นแบบสภาเดียว คือสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรี ให้ข้าราชการกลับมาเล่นการเมืองได้อีกครั้ง และประชาชนไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่ชัดเจน
นอกจากนี้ยังมี "การนิรโทษกรรม" ที่ระบุไว้ว่า ใครที่ทำรัฐประหาร ซึ่งเดิมทีผิดกฎหมายเพราะล้มล้างรัฐธรรมนูญ จะได้รับการละเว้นโทษและไม่มีความผิด จุดนี้จึงกลายเป็นแบบอย่างให้การรัฐประหารครั้งต่อๆ มาของไทยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคล้ายๆ กันระบุไว้เสมอ
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 11 นี้ ยังระบุเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจสู่ประชาธิปไตย โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 3 ระยะ ห่างกันคราวละ 4 ปี เท่ากับว่ากระบวนการสู่ประชาธิปไตยจะใช้เวลานานถึง 12 ปี แต่สุดท้าย จุดสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มาจากการรัฐประหารตัวเองอีกครั้งของคณะปฏิรูปการปกครองเดิม โดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "คณะปฏิวัติ"