ย้อนรอยรถไฟความเร็วสูงของจีน
หากกล่าวถึงรถไฟความเร็วสูงแล้วย้อนกลับเมื่อ 47 ปีก่อน รถไฟความเร็วสูงถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในนาม "รถไฟชินกันเซ็น " อีก 17 ปีถัดมาประเทศฝรั่งเศส ก็เปิดตัวรถไฟความเร็วสูงสายแรก ระหว่างกรุงปารีสกับเมืองลียง หากดูกันในเวลานั้น ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีประเทศใดมีรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะประเทศจีน ที่แทบจะเรียกได้ว่าการรถไฟในเวลานั้น มีความล้าหลัง โดยรถไฟแต่ละสายมีความเร็วเฉลี่ยไม่ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ปัจจุบันการรถไฟในประเทศจีนถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีรถไฟที่สามารถสร้างสถิติความเร็วสูงที่สุดในโลก ระหว่างการทดสอบได้ถึง 486 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว จีนยังมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางกว่า 8,000 กิโลเมตร และเตรียมจะสร้างรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมเขตแดนจีนกับประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
นับตั้งแต่จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางแรก สายปักกิ่ง-เทียนจิน เมื่อ 3 ปีก่อน ประเทศจีนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านรถไฟความเร็วสูง ทั้งในเรื่องของความเร็วสูงสุด และเครือข่ายทางรถไฟ
1 สิงหาคม 2551 ก่อนมหกรรมโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น การรถไฟจีนก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สายแรก เพื่อวิ่งระหว่าง 2 เมืองหลวง คือ เมืองปักกิ่ง และเมืองท่า คือ เมืองเทียนเจิน ระยะทางประมาณ 114 กิโลเมตร ซึ่งปกติรถไฟสายเก่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาที
หนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ เดลี่ของจีนรายงานว่า จีนมีรถไฟความเร็วสูงใช้มากกว่า 1,200 สาย และมีแผนจะขยายเส้นทางอีก 5,000 กิโลเมตร ภายในปีนี้ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างไม่น้อยกว่า 700,000 ล้านหยวน ซึ่งเฉพาะในปีนี้มีโครงการที่อยู่ในแผนงานที่ก่อสร้างใหม่มากถึง 70 โครงการ
เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของจีน ที่ต้องการจะพลิกประวัติศาสตร์การก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ หวังจะให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคให้เชื่อมถึงกันได้หมด เรียกว่าเป็นการปฏิรูปการขนส่งของจีนใหม่หมดทั้งประเทศ แม้ตั๋วจะมีราคาแพงกว่า 4-5 เท่า
แผนการที่จีนจะเชื่อมโลกทั้งใบโดยมีจีนเป็นศูนย์กลางนั้น มีเส้นทางหลัก 3 เส้นทางคือ เชื่อมระหว่างปักกิ่งของจีน กับสถานีคิงครอสส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระยะทาง 8,100 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางเพียง 2 วัน ด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เส้นทางที่ 2 จะลากผ่านลงตอนใต้ของจีน เชื่อมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านมาทั้งพม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสิ้นสุดที่สิงคโปร์ และเส้นทางที่ 3 คือ เชื่อมเยอรมนี ผ่านรัสเซีย ข้ามเขตไซบีเรีย สู่จีนแผ่นดินใหญ่
โดยเหตุผลหลักๆ ของเมกะโปรเจกต์นี้ คือการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศนั้นๆ แม้ว่าจีนจะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเส้นทางสายตะวันตก คุนหมิง-ย่างกุ้ง แต่นับว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้เปลี่ยนเป็นสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติแล้ว เส้นทางเหล่านี้ยังช่วยลดระยะทางจากตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยไม่ต้องผ่านการจราจรอันคับคั่งในช่องแคบมะละกา คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เปิดใช้บริการได้ภายในปี 2557 หลังจากเซ็นสัญญาไปเมื่อเดือนตุลาคม 2553
ส่วนแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงอีกสายหนึ่งในมณฑลกว่างซี ไปยังชายแดนเวียดนาม และอีกสายหนึ่งเข้าลาว อาจต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ กับเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยยังติดขัดในเรื่องของกฎหมาย และเงินลงทุนร่วม 800,000 ล้านบาท เพราะว่าต้องก่อสร้างระบบรางเป็นขนาดความกว้าง 1.435 เมตร ตามมาตรฐานโลก แม้ว่าจีนพร้อมจะร่วมทุนถึงร้อยละ 49