สปช.เผยผลลัพธ์ 4 แนวทาง ทำประชามติรัฐธรรมนูญพ่วงรัฐบาลบริหารต่อ 2 ปี
จากกรณี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางกลุ่มต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืดเวลาทำงานเพิ่มอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เสนอในเวทีที่ สปช.จัดขึ้นนั้น
วันที่ 8 มิ.ย. 2558 นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนเสนอให้มีการทำประชามติในเรื่องนี้ ไปพร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเพิ่มคำถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการปฏิรูปประเทศต่ออีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งหากทำตามข้อเสนอดังกล่าวผลประชามติจะออกมา 4 แนวทางคือ 1.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและเห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้ส่งผลให้ต้องรออีก 2 ปี ร่างรัฐธรรมนูญถึงมีผลบังคับใช้ ระหว่างนั้นการบริหารประเทศต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า แนวทางที่ 2.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่เห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางส่งผลให้มีการดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ คือออกกฎหมายลูกและเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ส่วนเรื่องปฏิรูป 2 ปีเป็นอันตกไป แนวทางที่ 3.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่เห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 บริหารประเทศระหว่างปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี และ 4.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและไม่เห็นชอบการปฏิรูปอีก 2 ปี จะมีผลให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำอย่างไรก็แล้วแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะแก้ไข ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง
“ไม่เห็นด้วยที่ประธาน สปช. จะนำข้อเสนอให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปประเทศอีก 2 ปีก่อนการเลือกตั้ง เข้าหารือในที่ประชุม สปช.เพื่อทำประชามติ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของสปช. แต่เป็นเรื่องของประชาชนที่จะร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี” นายไพบูลย์ระบุ
ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ยังคงถกเถียงกันอยู่
ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขอให้ผู้เสนอให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศ ออกมาชี้แจงหรืออธิบายสังคมให้ชัดว่าการปฏิรูปนี้หมายถึงอะไร และมีเนื้อหาสาระด้านใดบ้าง หากหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่างกฎหมายลูก จะมีหลักประกันอะไรแก่ประชาชนว่าหากครบ 2 ปีที่ขอเวลาปฏิรูปต่อ คนไทยจะหันหน้ามากอดกันปรองดองกัน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า หากจะทำประชามติในเรื่องดังกล่าว ขอให้ประชาชนมีทางเลือกอื่นบ้าง เช่น ขออยู่ต่ออีก 2 ปี ได้หรือไม่ ก็ควรถามด้วยว่าต้องการให้รัฐบาลพ้นจากหน้าที่ที่ทำอยู่เร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้หรือ ทั้งนี้ การทำประชามติที่จะเกิดขึ้น ควรเป็นการทำแบบเสรี