นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีเพียงข้อสอบเดียวเท่านั้นที่เป็นข้อสอบโอเน็ตของปีการศึกษา 2558 ซึ่งถามเกี่ยวกับกฎหมายไทย ส่วนที่เหลือเป็นข้อสอบโอเน็ตเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในภาพรวมข้อสอบของ สทศ.ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมื่อดูผลสอบวิชาสามัญ 9 วิชาที่เพิ่งประกาศผลไปล่าสุด พบว่าแต่ละวิชาเด็กได้คะแนนต่ำมาก มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งวิชาเดียว ซึ่งการออกมาชี้แจงครั้งนี้คงไม่ได้มาแก้ตัวอะไร แต่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล
"สำหรับมาตรการครั้งต่อไป หากได้ข้อสอบมาจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างและให้มีการทดสอบที่ได้มาตรฐาน ต้องเรียนรู้จากตัวอย่างข้อสอบอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ไปโยนให้ 3-4 คนอ่านแล้วก็บอกว่าใช้ได้" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. กล่าวว่า การตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าข้อสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ที่จัดสอบเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.2559 ยังไม่มีข้อใดผิดพลาด ส่วนข้อสอบวิชาสังคมศึกษาที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ก็ไม่ตรงกับคำถามจริงในข้อสอบ ซึ่งเด็กอาจจะจำมาไม่ครบ เมื่อนำมาเผยแพร่ก็อาจทำให้มีการตีความผิดพลาดได้
ผู้อำนวยการ สทศ.ยังชี้แจงข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ว่าเป็นข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบรับตรง จึงต้องมีความยากกว่าข้อสอบโอเน็ตและยอมรับว่าข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาปีนี้ยากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สทศ.จะต้องไปพัฒนาข้อสอบให้มีความยากที่เหมาะสม ไม่ยากหรือง่ายเกินไปและสามารถคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคณะและไม่มีปัญหาด้านการเรียนในระดับที่สูงขึ้น
"สทศ.คงต้องไปพัฒนาว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ข้อสอบยากมาก ซึ่ง สทศ.ได้เริ่มทำปีนี้เป็นปีแรก โดยเริ่มทำระบบคลังข้อสอบ 9 วิชาสามัญ เพื่อให้ทุกมหาวิทยาลัยตามนโยบายของ ทปอ.ได้มาใช้" ผอ.สทศ.กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาการออกข้อสอบเกิดขึ้นทุกปีเช่นเดียวกับครั้งนี้ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการและ สทศ.ทบทวนความผิดพลาดร่วมกันและปรับปรุงแก้ไขให้เร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้น สทศ.จะเผยแพร่แนวข้อสอบ พร้อมยกตัวอย่างให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า, จัดทำคลังข้อสอบเพื่อประเมินความยากง่ายของข้อสอบก่อนสอบและเปิดให้หน่วยงานภายนอกร่วมออกข้อสอบด้วย ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการปรับปรุงระบบแล้วจะต้องไม่เกิดปัญหาการออกข้อสอบไม่ชัดเจนได้อีก หากเกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ