ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธเดินทางมาพร้อม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นสังฆามติกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ กล่าวว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอ 4 ข้อไว้จากทั้งหมด 5 ข้อ แต่สำหรับข้อสุดท้ายที่ต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องนำไปปรึกษาคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งก่อน
ทันทีที่เครือข่ายองค์กรชาวพุทธชุมนุมปักหลักอยู่ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม ทราบผลที่พล.อ.ประวิตร รับข้อเสนอกลุ่มผู้แทนจากภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธแล้ว จึงประกาศยุติการชุมนุมทันทีและทยอยเดินทางกลับ โดยผู้ที่ร่วมชุมนุมกล่าวว่ารู้สึกพอใจกับการรับข้อเสนอ แต่ยังคงกังวลหากไม่มีความคืบหน้า โดยจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
ข้อเสนอหรือสังฆามติทั้ง 5 ข้อที่ผ่านการหารือของคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ พระเมธีธรรมจารย์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ได้นำไปยื่นให้กับพล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คือห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องของคณะสงฆ์, ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา คือหากจะดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการปกครองคณะสงฆ์ ต้องรับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน, ขอให้นายกรัฐมนตรียึดถือมติมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช, ขอให้รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ และขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้ พล.อ.ประวิทย์ยืนยันจะทำตามข้อเสนอ แต่สำหรับข้อสุดท้ายที่ต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้นต้องนำไปปรึกษาคณะกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งก่อน
การร่วมทำสังฆามติของคณะสงฆ์และเครือข่ายองค์กรชาวพุทธตลอดทั้งวันเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.2559) ได้เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างทหารและคณะสงฆ์ หลังจากที่คณะสงฆ์พยายามจะนำรถขนเสบียงอาหารเข้ามาภายในพุทธมณฑล แต่ถูกทหารนำแผงกั้นเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าจึงเกิดการยื้อแผงกั้นเหล็ก แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง ก่อนที่ทุกอย่างจะสงบและทหารอนุญาตให้พระสงฆ์เดินเข้าไปภายในพุทธมณฑลได้
ขณะที่เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.2559) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปหยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีที่มหาเถรสมาคมไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร อดีตสมเด็จพระสังฆราช ที่ให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก โดยนายไพบูลย์ตั้งข้อสังเกตถึงความใกล้ชิดระหว่างพระมหารัชมังคลาจารย์กับพระธัมมชโย ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นการช่วยเหลือไม่ให้ต้องดำเนินการ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 157