วันนี้ (16 ก.พ.) นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมการ 3 ฝ่ายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ “ถ้าใจไม่เป็นธรรม กรรมการ 3 ฝ่ายก็จะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งอันใหม่” ระบุว่า
การเรียกร้องมานานหลายปีของชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง ต่อการหยุดยั้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น รัฐไม่เคยได้ยินตลอดมา ปล่อยให้เสียงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังกลบทำเนียบรัฐบาลมาเป็นเวลานาน จนประชาชนชาวกระบี่ ต้องมานั่งอดข้าวประท้วงเป็นเวลา 14 วัน เอาความยากลำบากมาแลกกับการที่รัฐบาลจะฟังเราบ้าง
การดำเนินการครั้งนั้นส่งผลให้เสียงของประชาชนดังลอดเข้าไปในทำเนียบได้บ้าง นำมาสู่การการเจรจากับรัฐบาล จนได้ข้อตกลง 3 ประการ อยากให้พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ จำ 3 ประการนี้ไว้ให้ดี ข้อแรก คือ การหยุดกระบวนการพิจารณาอนุมัติรายงานอีไอเอ ข้อสอง หยุดการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ข้อสามคือ กระบี่ขอผลิตไฟฟ้าเองจากโรงงานปาล์ม โดยขอเวลารัฐบาลพิสูจน์ 3 ปี ภายใต้การสนับสนุนเรื่องสายส่งของรัฐบาล นี่คือ 3ประการ ของข้อเรียกร้องในคราวนั้น
ข้อเรียกร้อง 2 ข้อแรก ได้รับการปฏิบัติ แต่ข้อที่สาม รัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจ จึงขอตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาข้อเสนอนี้โดยให้มีองค์ประกอบของบุคคล 3 ฝ่าย คือ ประชาชน ราชการ และ สนช. แต่กว่าจะมีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายใช้เวลาเกือบครึ่งปี ครั้งนั้นเรามีคำถามว่า ทำไมต้องใช้เวลาถึงครึ่งปี วางเกมอะไรกันอยู่หรือเปล่า ครั้นเมื่อมีการแต่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว หน้าที่ของกรรมการระบุชัดในคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนามว่า ขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องของชาวกระบี่ คำว่าข้อเรียกร้องจึงหมายถึงข้อ 3 คือ การพิจารณาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโรงปาล์ม แต่เมื่อมีการประชุมกรรมการ 3 ฝ่าย พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ กลับตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วยชุดพลังงานหมุนเวียน ชุดอีไอเอ และชุดติดตามรับฟังความเห็น
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ทำไมจึงตั้งกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ในเมื่อข้อเรียกร้องที่จะต้องพิจารณามีข้อเดียวคือเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากโรงปาล์ม ต้องการให้ภาพมันเบลอใช่หรือไม่ หรือต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับรายงานอีไอเอของกฟผ. การตั้งกรรมการขึ้นมา 3 ชุด จึงดูเหมือนขัดกับข้อเรียกร้องของชาวกระบี่ที่มีต่อนายกรัฐมนตรีในคราวนั้น
อย่างไรก็ตามอาจจะเข้าใจได้ว่า พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ต้องการความชัดเจนทั้งหมดจึงตั้งอนุกรรมการถึง 3 ชุดต่อประเด็นนี้ จึงทำความเข้าใจได้อยู่บ้าง ต่อมาข้อสงสัยในตัว พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เริ่มมีมากขึ้นเมื่อมีการตั้งที่ปรึกษาขึ้นมา 5 คน ปัญหาคืออะไร? ปัญหาของการตั้งที่ปรึกษามีอยู่ 2 ประการ ประการแรกทำไมต้องตั้งที่ปรึกษาขึ้นมาในเมื่อทั้งกรรมการ 3 ฝ่าย และอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด นับรวมแล้วเกือบ 100 ชีวิต ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนนับร้อยคนนี้ยังไม่เพียงพอเช่นนั้นหรือ?
ปัญหาประการแรกนั้นน่าสงสัย แต่ปัญหาประการที่สอง ทำให้เราตั้งข้อสังเกตต่อพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ว่า ยังมีความเป็นธรรมต่อการพิจารณาข้อเสนอของจังหวัดกระบี่อยู่หรือไม่ เพราะได้ตั้งที่ปรึกษาขึ้นมา 5 คน 1 ใน 5 คนนั้น มีชื่อว่า นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานบริษัท ปตท. คำถามว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน? ปัญหาอยู่ตรงที่ ปตท.เป็น 2 บริษัทใหญ่ของไทย ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับถ่านหิน ในขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการบริหารของบริษัท ปตท. การตั้งที่ปรึกษาในลักษณะนี้เป็นการเอนเอียงต่อทิศทางการทำงานของกรรมการ 3 ฝ่าย นี่ยังไม่นับรวมที่ปรึกษาอีก 4 คนที่ยังไม่ได้สืบประวัติว่าเกี่ยวข้องอันใดกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกิจการถ่านหินหรือไม่ การตั้งที่ปรึกษาครั้งนี้จึงส่อเจตนาของพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ จนอาจจะนำไปสู่ข้อสงสัยได้ว่าเอนเอียงหรือไม่?
เราจึงขอน้อมเตือนไปยังพล.อ.สกนธ์ว่า มีแต่จิตใจที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ จิตใจที่เอนเอียงจะนำมาสู่ปัญหาใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น กรณีกรรมการ 3 ฝ่าย หากยังมีชื่อของที่ปรึกษาซึ่งมีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับกิจการถ่านหิน จะทำให้การทำงานหลังจากนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอาจก่อปัญหาใหม่มาอย่างไม่รู้จบ เราขอเรียกร้องต่อพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ว่า เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายโปรดจัดการกับรายชื่อที่ปรึกษาเสียใหม่ให้สะอาดโปร่งใส มิเช่นนั้นเราจะขอเรียกร้องร้องให้กรรมการในส่วนของประชาชนกระบี่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะชาวกระบี่ไม่ควรปฏิบัติงานในกรรมการชุดที่มีเจตนาอันน่าสงสัย