ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สี จิ้นผิง" เยือน "กัมพูชา" กระชับสัมพันธ์พันธมิตรแน่นแฟ้น

ต่างประเทศ
18 เม.ย. 68
08:12
286
Logo Thai PBS
"สี จิ้นผิง" เยือน "กัมพูชา" กระชับสัมพันธ์พันธมิตรแน่นแฟ้น
อ่านให้ฟัง
08:11อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางเยือนกัมพูชา กระชับสัมพันธ์พันธมิตรแน่นแฟ้น ส่งท้ายภารกิจในอาเซียน ท่ามกลางการต้อนรับอบอุ่น พร้อมแลกเปลี่ยนข้อตกลงร่วม 37 ฉบับ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2568 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางเยือนกัมพูชา โดยขบวนรถของเขาเคลื่อนผ่านท้องถนนในกรุงพนมเปญ ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมโบกธงชาติจีนและกัมพูชา

กัมพูชาเป็นจุดหมายสุดท้ายของแผนการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการของผู้นำจีนในครั้งนี้ และถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของจีนในภูมิภาค ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ผู้นำจีนยังได้พบหารือกับสมเด็จฮุน เซน ประธานสภาสูงกัมพูชา และฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

สมเด็จฮุน เซน ประธานสภาสูงกัมพูชา จับมือกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน วันที่ 17 เมษายน 2568

สมเด็จฮุน เซน ประธานสภาสูงกัมพูชา จับมือกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน วันที่ 17 เมษายน 2568

สมเด็จฮุน เซน ประธานสภาสูงกัมพูชา จับมือกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน วันที่ 17 เมษายน 2568

ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อตกลง 37 ฉบับในหลากหลายด้าน ครอบคลุมถึงทรัพยากรน้ำและเกษตรกรรม และระบุถึงการเยือนของผู้นำจีนครั้งนี้ว่าเป็นการแสดงมิตรภาพที่แน่นแฟ้น และทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของหลักการเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม และการไม่แทรกแซงกิจการภายใน นอกจากนี้ยังระบุว่าจีนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

ขณะที่ผู้นำจีน ระบุว่า จีนจะเปิดตลาดขนาดใหญ่ให้กับกัมพูชา และนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูงจากกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (กลางซ้าย) และ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (กลางขวา) ในกรุงพนมเปญ วันที่ 17 เมษายน 2568

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (กลางซ้าย) และ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (กลางขวา) ในกรุงพนมเปญ วันที่ 17 เมษายน 2568

การเดินทางเยือนกัมพูชาของผู้นำจีนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 และยังเกิดขึ้นในขณะที่จีนและกัมพูชาฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 67 ปีในปีนี้ จีนถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดเมื่อปี 2024 มูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาซึ่งมีมูลค่าหนี้สูงกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วย

ชาวกัมพูชาถือภาพประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ในพิธีต้อนรับในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568

ชาวกัมพูชาถือภาพประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ในพิธีต้อนรับในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568

ชาวกัมพูชาถือภาพประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ในพิธีต้อนรับในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568

ขณะที่สื่อกัมพูชารายงานก่อนหน้าการมาเยือนของผู้นำจีนครั้งนี้ว่า ผู้นำจีนได้เรียกร้องให้กัมพูชาต่อต้านลัทธิการใช้อำนาจครอบงำและการกีดกันทางการค้า และระบุว่าจีนสนับสนุนให้กัมพูชาเลือกเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสม พร้อมปกป้องอำนาจอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของตนเองด้วย

นอกจากนี้ผู้นำจีนยังเรียกร้องให้กัมพูชาปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ เช่น การฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้านี้กัมพูชาได้ส่งตัวอาชญากรชาวจีนจำนวนหนึ่ง รวมถึงพลเมืองไต้หวันกลับไปยังจีน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ไต้หวันอย่างมาก

จีน-มาเลเซียย้ำแก้ปมทะเลจีนใต้อย่างสันติ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้นำจีนได้หารือกับรัฐบาลมาเลเซียระหว่างการเยือนมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศออกแถลงการณ์ร่วม โดยเน้นย้ำการร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติ พร้อมให้คำมั่นที่จะสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมุ่งหวังให้จีนและอาเซียนบรรลุข้อสรุปการเจรจาเพื่อจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างกันให้ได้ภายในปีหน้า หลังทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 แต่กระบวนการกลับเป็นไปอย่างล่าช้า

นายกฯ มาเลเซียหารือผู้นำทหารเมียนมาที่ไทย

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญคือการมาเยือนไทยของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำมาเลเซียใช้โอกาสนี้พบหารือกับ พลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่กรุงเทพมหานครด้วย

ผู้นำมาเลเซีย เปิดเผยว่า ได้หารืออย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์โดยเน้นไปที่ความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนของชาวเมียนมาและความสำคัญของการฟื้นคืนประเทศกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้เขาจะพบกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในวันศุกร์นี้

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากประชาคมอาเซียนและความร่วมมือระหว่างเมียนมาและอาเซียนเพื่อการฟื้นฟูเมียนมาหลังเผชิญเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง และระบุว่าการพูดคุยครั้งนี้มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยเข้าร่วมด้วย

แม้ก่อนหน้านี้ผู้นำมาเลเซียจะย้ำว่าการพบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในครั้งนี้จะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลด้านมนุษยธรรมเท่านั้นและจะเป็นการพูดคุยในฐานะประธานอาเซียน แต่ก็ยังสร้างความกังวลในหลายฝ่ายว่าอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารหรือไม่ 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจาก :ทำเนียบรัฐบาล)

เมียนมาอภัยโทษผู้ต้องขังกว่า 4,900 คน

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีของทางการเมียนมารายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ อภัยโทษผู้ต้องขัง 4, 893 คนเนื่องในวันสงกรานต์ เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ในจำนวนนี้รวมถึงชาวต่างชาติ 13 คน ที่จะถูกเนรเทศหลังได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ผู้ต้องขังบางส่วนจะได้รับการลดโทษในโอกาสนี้ด้วย แต่จะไม่นับรวมถึงผู้ต้องขังในต้องคดีอุกฉกรรจ์ ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่น ข่มขืนกระทำชำเรา ก่อการร้าย และการรวมตัวกันอย่างผิดกฎหมาย

รัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างรัฐเพื่อความสงบสุขของประชาชนและยังถือเป็นการส่งมอบความเมตตากรุณาจากรัฐด้วย

ขณะที่บุคคลระดับสูงทางการเมืองที่ถูกคุมขังโดยรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ไม่ได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีผู้ต้องขังคดีการเมืองได้รับการปล่อยตัวมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

อ่านข่าว : แมนฯยูฯ รัว 3 ลูกท้ายเกม แซงชนะลียง 5-4 ลิ่ว 4 ทีม "ยูโรปา ลีก"

ยิงในมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา เสียชีวิต 2 คน 

สภาพอากาศวันนี้ ไทยตอนบนยังมีฝนฟ้าคะนอง ภาคใต้เจอฝน 60%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง