การแถลงผลการตรวจสอบรถจดประกอบที่อยู่ในการครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ของดีเอสไอในวัน (18 ก.พ.2559) จะมี พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นผู้แถลงข่าว
กรณีนี้ ดีเอสไอรับไว้ดำเนินการ หลังพระพุทธะอิสระและนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิก สปช.ขอให้ตรวจสอบการครอบครองรถเบนซ์โบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่จอดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำภาษีเจริญและรถคันนี้ดีเอสไอระบุว่าเป็นหนึ่งในรถจดประกอบกว่า 5,000 คันที่มีราคาต่ำกว่า 3,000,000 บาท ที่ดีเอสไอกำลังตรวจสอบอยู่เช่นกัน
แต่การตรวจสอบรถคันนี้ดีเอสไอดำเนินการอย่างจริงจัง หลังจากที่มหาเถรสมาคมเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ให้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 เพียงไม่กี่วัน จนถูกตั้งข้อสังเกตจากคณะสงฆ์และฆราวาสบางกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เพราะเห็นว่านี่เป็นความพยายามสร้างเงื่อนไขในตัวของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
และนี่ยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะสงฆ์และฆราวาสหยิบยกขึ้นมานัดรวมตัวชุมนุมเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายที่คัดค้านกำลังใช้หน่วยงานตรวจสอบอย่างดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบและลดทอนความเหมาะสมในตัวสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ต่อตำแหน่งพระสังฆราช
ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องนี้เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม โดยลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรถเบนซ์คันดังกล่าว พร้อมเรียกเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงหาข้อเท็จจริงในกระบวนการนำเข้ารถคันนี้ แม้ทางฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำภาษีเจริญจะยืนยันมาตลอดว่าวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปของรถ เพราะมีผู้บริจาคให้ ก่อนจะจดทะเบียนในชื่อของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นผู้ครอบครอง
ล่าสุด ดีเอสไอสรุปผลตรวจสอบรถหรูจดประกอบของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เบื้องต้นพบมีการกระทำผิดกฎหมายในกระบวนการนำเข้าทุกขั้นตอนและมีการทำผิดเป็นกระบวนการ
ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า รถคันนี้จดประกอบจากชิ้นส่วนรถเก่า มีการเสียภาษีสรรพสามิตตามที่ปรากฎในใบเสร็จ โดยดีเอสไอทำการตรวจสอบใน 4 ขั้นตอน ขณะที่ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พบว่ามีการนำเข้าตัวถังและเครื่องยนต์จากสหรัฐอเมริกา แต่อุปกรณ์ส่วนควบไม่พบหลักฐานการนำเข้าและบริษัทที่นำเข้าเครื่องยนต์และตัวถังไม่พบว่ามีสถานประกอบการจริง ซึ่งขั้นตอนการประกอบรถยนต์คันนี้ประกอบตามคำสั่งซื้อของพระรูปหนึ่งในราคา 4,000,000 บาท และอู่ที่รับจดประกอบไม่มีใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรม นอกจากนี้สินค้าทั้งหมดไม่ได้จ่ายภาษีอย่างครบถ้วน
ส่วนขั้นตอนการชำระภาษีสรรพสามิต พบการปลอมรายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปจดทะเบียนและยื่นภาษี ขณะที่ขั้นตอนที่กรมการขนส่งทางบก พบหลักฐานว่ามีผู้ว่าจ้างบุคคลไปขอจดทะเบียน โดยใช้เอกสารและลายมือปลอมในการจดทะเบียน
ดีเอสไอจึงสรุปได้ว่า ทุกกระบวนการผิดกฎหมายทุกขั้นตอน มีการกระทำผิดเป็นกระบวนการและมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายอาญาหลายคน