ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทรนด์วิ่งมาแรง ดันตลาดรองเท้าขยับถึง 30 % นักวิ่งหาความท้าทายใหม่ เลี่ยงเมืองไป “วิ่งเทรล”

กีฬา
23 ก.พ. 59
07:18
7,559
Logo Thai PBS
เทรนด์วิ่งมาแรง ดันตลาดรองเท้าขยับถึง 30 % นักวิ่งหาความท้าทายใหม่ เลี่ยงเมืองไป “วิ่งเทรล”
เทรนด์ออกกำลังกาย-ใส่ใจสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้ตลาดรองเท้าวิ่งเติบโตกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มในปีนี้ หลายแบรนด์เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้น “น้ำหนักเบา รองรับการกระแทก ให้แรงส่ง

วันนี้ (23 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า ข้อมูลจาก www.marketeer.co.th ระบุว่า ผู้นำตลาดรองเท้าวิ่งในไทย 5 แบรนด์ ได้แก่ Nike Adidas Reebok Mizuno และ Asics มีมูลค่าตลาดรองเท้าวิ่งในปี 2557 อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท ขณะที่ปี 2558 อยู่ที่ 2,800-3,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดรองเท้าวิ่งเติบโตขึ้นมาก มาจากเทรนด์ออกกำลังกายและรักสุขภาพ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจเลือกรองเท้าสำหรับวิ่งมากขึ้น ประกอบกับแบรนด์สินค้าและบริษัทต่างๆ จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ตลอดทั้งปี แอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองต่อการวิ่งมากขึ้น และความสวยงามของรองเท้า

อรรถพล นิติวรคุณาพันธุ์ วัย 36 ปี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดร้านอาริรันนิ่ง สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ บอกว่า ช่วง 1-2 ปีนี้คนเริ่มใส่ใจสุขภาพ ทำให้ตลาดรองเท้าวิ่งเติบโตดีมาก โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2558 กลุ่มนักวิ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน อายุ 23-40 ปี และเป็นผู้หญิงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาพรวมของตลาดในปี 2558 เติบโตขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าปีนี้ตลาดจะขยายตัวขึ้นอีก โดยเฉพาะรองเท้าสำหรับวิ่งเทรล (Trail running) หรือการวิ่งผจญภัยในธรรมชาติ เพราะนักวิ่งเริ่มเบื่อการวิ่งในเมืองและปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหาความท้าทายใหม่

การแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทผลิตรองเท้าเกือบทุกแบรนด์ ต้องพัฒนารองเท้าวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เน้นคุณสมบัติหลัก 3 ข้อ คือ รองรับการกระแทก น้ำหนักเบา และให้ความรู้สึกว่าเป็นแรงส่งขณะวิ่ง ขณะที่นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น "นาวิน ตาร์" หรือ นาวิน เยาวพลกุล ดาราและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ตูน บอดี้สแลม" หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้อง ที่วิ่งอย่างจริงจังจนกลายเป็นไอดอลของนักวิ่งหน้าใหม่ ก็ส่งผลให้ยอดซื้อรองเท้าเพิ่มขึ้น

อรรถพลให้ข้อมูลว่า ลูกค้าของทางร้านเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง มีทั้งกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่และกลุ่มที่ต้องการเพิ่มระยะวิ่ง กลุ่มหลังจะเข้ามาซื้อรองเท้าที่ร้านค่อนข้างบ่อย อีกทั้งคนไทยยังชอบซื้อสินค้าตัวท็อป เพราะราคาไม่แตกต่างกับตัวรองมากนัก การลดราคาจึงไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ

"รองเท้ารุ่นที่ดาราใส่จะขายดีทันทีเลย แต่นอกจากพรีเซ็นเตอร์แล้ว รองเท้าจะต้องดีด้วยตัวมันเอง ถ้าลูกค้าซื้อตามแล้วมันไม่ดี สุดท้ายก็ขายไม่ได้ เดี๋ยวนี้ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก่อนซื้อเขาจะอ่านรีวิวกันมาอยู่แล้ว ซึ่งทางร้านไม่ค่อยลดราคาบ่อย เพราะเหมือนชะลอการตัดสินใจซื้อ ลูกค้าจะมองว่าถ้ารองเท้าออกมาใหม่ มันใส่สบาย สวย และเขาชอบก็จะตัดสินใจซื้อเลย" อรรถพลกล่าว

เทคนิคที่ช่วยให้ทางร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงการบริการ แต่เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้และประสบการณ์จริง "ผมผ่านการวิ่งระยะฟูลมาราธอนมา 3 ครั้ง ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่การมาบอกเทคโนโลยี แต่เขาถามว่าถ้าวิ่ง 10 กม.ใส่คู่นี้ได้ไหม ฮาล์ฟมาราธอน ฟูลมาราธอน ควรใส่คู่ไหน ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ เราจะอธิบายไม่ได้ ถ้าลูกค้าเอาไปใส่แล้วไม่ดี ก็เป็นฟีดแบ็คที่ไม่ดี ข้อมูลเกี่ยวกับรองเท้าใครๆ ก็ดูได้ในอินเทอร์เน็ต แต่ประสบการณ์ไม่ได้เข้าถึงได้หมดทุกคน" อรรถพลกล่าว

 

รองเท้าส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 600-1,000 กม. แต่ไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 ปี เพราะอากาศในไทยค่อนข้างร้อน พื้นรองเท้าจะกรอบและอาจหลุดได้ การทดสอบว่ารองเท้าหมดอายุการใช้งานหรือยังทำได้ด้วยการลองใส่ หากพบว่าเมื่อยืนตรงๆ แล้วเท้าเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนรองเท้า ส่วนการเลือกซื้อรองเท้านั้นต้องดูลักษณะรูปเท้าของแต่ละคน ว่าเท้าปกติ เท้าแบน หรือเท้าค่อนข้างโก่ง ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงบ่าย เพราะเท้าจะขยายเต็มที่ใกล้เคียงกับขณะวิ่ง รวมทั้งเหลือพื้นที่ด้านหน้ารองเท้าประมาณครึ่งเซ็นติเมตรและด้านข้างไม่บีบรัดจนเกินไป

สำหรับรองเท้าวิ่ง 5 รุ่นขายดีของร้านอาริรันนิ่ง ได้แก่
1. Adidas ultra boost รูปแบบรองเท้าไม่ได้ใส่วิ่งอย่างเดียว แต่สามารถใส่ทำงาน หรือใส่เที่ยววันหยุด ราคา 6,990 บาท
2. Nike lunartempo 2 เป็นตัวใหม่ของ Nike ที่ตรงกับความต้องการของนักวิ่ง เพราะเน้นน้ำหนักเบา ให้แรงส่ง และยืดหยุ่น ราคา 4,200 บาท
3. On cloud flyer เน้นให้แรงส่งและมีชื่อเสียงในกลุ่มที่แข่งขันไตรกีฬา แบรนด์นี้เพิ่งเข้ามาไทยในปี 2558 รูปทรงรองเท้าสวยงาม ราคา 6,900 บาท
4. Altra เป็นรองเท้าที่ค่อนข้างเหมาะกับคนไทย เพราะหน้ากว้าง มีชื่อเสียงในกลุ่มนักวิ่งเทรล รุ่น The Lone Peak 2.5 ราคา 5,450 บาท
5. Brooks glycerin 13 เป็นแบรนด์รองเท้าที่คนวิ่งจริงจังจะเลือกใส่ เพราะได้รางวัลจำนวนมาก พื้นรองเท้าไม่นิ่มจนเกินไป ทำให้เท้าไม่จมเมื่อต้องวิ่งระยะไกล ราคา 5,600 บาท

กุลธิดา สามะพุทธิ วัย 40 ปี นักวิ่งผู้พิชิตเชียงใหม่มาราธอน ระยะ 42.195 กม. บอกว่า เธอเริ่มต้นวิ่งด้วยรองเท้าออกกำลังกายคู่เดิม เมื่อวิ่งได้ระยะที่ไกลขึ้น ประกอบกับรองเท้าคู่เดิมชำรุด เธอจึงซื้อรองเท้าวิ่งคู่แรก ยี่ห้อ Asics ในช่วงที่มีการลดราคา 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3,500 บาท

"รองเท้าเป็นสิ่งสำคัญของนักวิ่ง สิ่งที่เราควรจะลงทุนจริงๆ ก็คือรองเท้า เพราะมันจะดูแลทั้งเรื่องเท้า เข่า ทำให้วิ่งได้นาน ไม่เจ็บ" กุลธิดากล่าว

ขณะที่ปัจจัยในการเลือกรองเท้าวิ่งนั้น จะเน้นที่ความใส่สบายเป็นหลัก รองลงมาเป็นเรื่องของราคาเหมาะสม ไม่เกิน 4,000 บาท และเลือกให้ตรงกับประเภท หรือระยะทางในการวิ่ง พร้อมมองว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์รองเท้ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น รองเท้าวิ่งแบบ Five-fingers (5 นิ้ว) ให้ความรู้สึกคล้ายการวิ่งเท้าเปล่า เริ่มเข้ามาในไทยสักพักแล้ว ทำให้ผู้บริโภคไม่ยึดติดกับรองเท้าแบบเดิม

กุมารี ญานประภาดี วัย 32 ปี บอกว่า เธอจะเล่นฟิตเนสเป็นส่วนใหญ่ และเพิ่งเริ่มวิ่ง 2-3 งานในระยะมินิมาราธอน (10.5 กม.) ซึ่งปัจจัยในการเลือกรองเท้าวิ่ง จะเน้นที่ความสวยงามและใส่สบาย ราคาประมาณ 5,000-6,000 บาท

เฉลิมพล แป้นจันทร์ วัย 33 ปี ผู้พิชิตจอมบึงมาราธอน ระยะ 42.195 กม. เล่าว่า เขาเริ่มต้นวิ่งอย่างจริงจังมาประมาณ 1 ปี โดยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อรองเท้า หลังจากนำรองเท้ากีฬาทั่วไปมาใส่วิ่งแล้วมีอาการบาดเจ็บ ก่อนซื้อรองเท้าจะสอบถามข้อมูลจากเพื่อนนักวิ่ง รวมทั้งอ่านรีวิวในอินเทอร์เน็ต เพราะแต่ละแบรนด์มีการพัฒนารองเท้ารุ่นใหม่ๆ ทุกปี โดยเลือกซื้อรองเท้าคู่ที่ใส่สบาย เหมาะสมกับประเภท หรือระยะการวิ่ง และราคาไม่เกิน 3,000-4,000 บาท ส่วนใหญ่จะฝากซื้อจากเพื่อนที่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะราคาถูกกว่าในไทย แต่ข้อเสียคือการไม่ได้ลองใส่ด้วยตัวเอง

ขณะที่การซ้อมวิ่งจะเน้นใช้รองเท้าคู่เดิมที่น้ำหนักค่อนข้างเยอะ สลับกับคู่ที่ใช้วิ่งในงานที่มีน้ำหนักเบา และเปลี่ยนรองเท้าเมื่อคู่เดิมชำรุด หรือวิ่งเกิน 1,000 กม.

เฉลิมพลยังบอกอีกว่า เขาอยากลองวิ่งเทรล โดยเริ่มต้นที่ระยะสั้น แต่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม อีกทั้งการเดินทางลำบากกว่าการวิ่งในเมือง เขาจึงต้องการที่จะฝึกซ้อมและหาข้อมูลเพื่อให้มีความพร้อมมากขึ้นและหากมีโอกาสก็คาดว่าจะลองวิ่งเทรลดูสักครั้ง

 

วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง