วันนี้ (24 ก.พ.) ที่หอการค้าไทย หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน 10 องค์กร ได้แก่ กลุ่มมิตรผล SCG บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Central Group ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เครือเบทาโกร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด สมาคมโรงแรมไทย บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)
ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร หอการค้าไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
จัดแคมเปญรณรงค์ประหยัดน้ำภายใต้ชื่อ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง” มีเป้าหมายเพื่อ ร่วมกันลดการใช้น้ำให้ได้ 30 % ให้มีน้ำใช้พอเพียงในฤดูแล้ง สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำแล้ง พร้อมผลักดันให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2558 ถึงปัจจุบัน วันที่ 23 ก.พ. 2559 มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2559 ประมาณ 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,960,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,720,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต”
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนประมาณความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจนถึงเดือนพ.ค.2559 นี้ จะอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งความต้องการใช้น้ำสูงกว่าที่มีอยู่ถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีความพร้อมทุกด้านในการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งซ่อมเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ นักบินผ่านการฝึกบินทบทวนตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจัดหาสารฝนหลวง เฝ้าติดตามสภาพอากาศทุกวัน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ต้นปี ทำให้สามารถปฏิบัติการฝนหลวงโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็วในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2559 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ รวมทั้งสามารถเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 แห่ง ก่อนกำหนด ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจ.นครสวรรค์ และกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.
สำหรับหน่วยอื่นกำหนดเปิดปฏิบัติตามแผนคือ วันที่ 29 ก.พ.2559 ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้าน นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.(ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งครั้งนี้เป็นวิกฤตร่วมที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา ในฐานะที่ไทยพีบีเอสเป็นสื่อเพื่อสาธารณะ เราต้องสร้างให้ประชาชนตระหนักรู้ ป้องกันและร่วมกันหาทางออกในระยะยาว ไทยพีบีเอสจะทำการรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้น้ำลง 30 % ภายใต้โครงการ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง” เพื่อให้มีน้ำใช้พอเพียงในฤดูแล้ง
พร้อมกันนี้ไทยพีบีเอสได้จัดตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์การใช้น้ำใน 76 จังหวัด และรวบรวมข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน โดยที่ไทยพีบีเอสจะปรับผังรายการ เพื่อนำเสนอข่าวปัญหาภัยแล้งให้เห็นถึงสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขในทุกช่วงของการนำเสนอข่าว รวมทั้งจะมีรายการ รู้ สู้ ภัยแล้ง ซึ่งจะออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงเวลา 18.30-19.00 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่เราเข้าร่วมโครงการเพราะหอการค้าไทยเป็นศูนย์รวมของภาคธุรกิจทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงคาดหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการปลุกพลังของภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมลดการใช้น้ำอย่างประหยัด และการแบ่งปันทรัพยากรอันมีค่าร่วมกัน โดยหอการค้าไทยจะให้ภาคธุรกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลดการใช้น้ำประปา 30% โดยหอการค้าไทยได้สร้างต้นแบบ 10 ธุรกิจนำร่องของโครงการ ในส่วนภูมิภาคได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด ในการสร้างธุรกิจต้นแบบลดการใช้น้ำให้ครบทุกจังหวัด
“เรามีความมุ่งหวังจะช่วยให้สังคมไทยฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน และการรณรงค์ลดการใช้น้ำ จะเป็นการสร้างพลังในการปลูกจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างประหยัด มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด”