วันนี้ (24 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีคณะรัฐมนตรี เสนอให้ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2 ช่วง เพื่อคงอำนาจพิเศษครอบคลุมไปจนหลังเลือกตั้ง และหลังมีรัฐบาลชุดใหม่ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ปฏิเสธและพยายามชี้ให้สื่อมวลชนไปสอบถามข้อเท็จจริงจากอีกฝ่าย ล่าสุดพบว่าไม่มีการหารือกันโดยตรง แม้นายมีชัยจะยืนยันว่าเย็นวันนี้จะเข้าทำเนียบรัฐบาลไปหารือกับนายวิษณุก็ตาม
มีรายงานว่าบุคคลทั้ง 2 ได้หารือกันเป็นการภายในแล้ว ซึ่งนายวิษณุ ยืนยันหลักการที่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ โดยก่อนเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายวิษณุให้สัมภาษณ์อ้างอิงถึงคำปรารภในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 และชี้ว่าไม่ต้องการให้เหตุความขัดแย้งเกิดขึ้นเหมือนในอดีต ดังนั้นแม้ว่าหลายประเด็นที่ กรธ.ย้ำในหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีข้อทักท้วงก็ต้องพิจารณา เพราะ ครม.ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หากแต่ให้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นเพื่อใช้เป็นการชั่วคราวหรือเป็นบทเฉพาะกาลเท่านั้น
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ครม. ส่งความเห็นให้ กรธ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ รวม 7 หน้า 16 ข้อ โดยข้อที่ 16 เสนอให้พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาล ก่อนเข้าสู่สถานการณ์ปกติ โดยให้เหตุผลเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง