ชัยชนะในการเลือกตั้งที่สร้างความแคลงใจให้กับลูกชาย จนกลายเป็นความแตกแยกระหว่างพ่อ-ลูก และคนในชุมชน ในเรื่องสั้น “วาวแสงแห่งศรัทธา” ที่“วัชระ เพชรพรหมศร” เจ้าของนามปากกา “วัชระ สัจจะสารสิน” สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นได้อย่างแยบยล จนคว้ารางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้า ปี 2548 ประสบการณ์ในฐานะนักกฎหมายและความสนใจด้านการเมือง ทำให้วัชระเลือกใช้พลังวรรณกรรมสื่อสารปัญหาบ้านเมืองผ่านเวทีพานแว่นฟ้า สร้างชื่อสู่การเป็นนักเขียนระดับซีไรต์ในเวลาต่อมา ความเปิดกว้างต่อประเด็นวิพากษ์การเมืองที่แหลมคม คือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้เวทีพานแว่นฟ้า สร้างนักเขียนคุณภาพมานับไม่ถ้วน
วัชระ เพชรพรหมศร นักเขียนซีไรต์ปี 2551 กล่าวว่า รางวัลเป็นพื้นที่หนึ่งในการให้คนทั่วๆไป สะท้อนความรู้สึก ความเห็น ออกมาในรูปแบบของวรรณกรรม ซึ่งตรงนี้สำคัญในการนำความเห็นเหล่านี้มาประมวล และสามารถนำไปใช้บอกเล่าความจริงของประเทศได้
ด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้ มีพื้นที่สร้างวรรณกรรมสั่นสะเทือนสังคมและการเมืองของประเทศ ทำให้พานแว่นฟ้าถือกำเนิดขึ้นในปี 2545 โดยรัฐสภาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อปลูกจิตสำนึกประชาธิปไตย ทั้งยังมีแผนยกระดับให้พานแว่นฟ้าเป็นรางวัลเทียบชั้นซีไรต์ โดยเสนอเงินรางวัลสูงสุดถึงหลักล้าน และจะเผยแพร่ผลงานผู้ชนะในวงกว้าง หากการเห็นต่างเรื่องการเมืองและการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ก็ทำให้พานแว่นฟ้าต้องเจอวิกฤตหลายครั้ง และยังต้องหยุดไปเพราะการรัฐประหาร ในยามที่การเมืองเปลี่ยนขั้ว พานแว่นฟ้าจึงถูกจับตาและตั้งคำถามถึงจุดยืนตามไปด้วย
ทัศนคติที่แตกต่างทางการเมือง ทำให้นักเขียนกลุ่มหนึ่งเคยถอดตัวจากการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า และในปี 2556 บทกวีเรื่อง "เบี้ย" เคยมีข้อกังขาถึงการไม่ทำตามกติกา ทำให้คณะกรรมการเห็นต่าง แต่การกลับมาของพานแว่นฟ้าครั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินงานยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา
ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง รองประธานคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2559 กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นคณะกรรมการในหลายรางวัล ผมจะยืนอยู่ที่กติกาไว้ก่อน เราต้องเดินตามกติกา ถ้าหากว่าเราไม่เดินตามกติกา ล้ำกันไปมา ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้นมีการวางกรอบไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีกี่หน้า
ด้านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2559 ให้ความเห็นว่าควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคนสังคม มากกว่ารัฐบาลจะมีกรอยจำกัด หรือมาชี้แนะ ไม่ต้องสนใจอย่างนั้น ผมคิดว่าคณะกรรมการก็ไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นกรอบสำคัญหรือไม่ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นกรอบที่เราจะพิจารณากัน
บรรยากาศบ้านเมืองในช่วงปฎิรูป ทำให้หัวข้อการประกวดในครั้งที่ 14 ว่าด้วยเรื่องพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย รับผลงานทั้งบทกวีและเรื่องสั้นที่พิจารณาจากทั้งจากคุณค่าทางวรรณศิลป์ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามสิทธิ หน้าที่ ความเสมอภาค และความรับผิดชอบต่อสังคม