ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งดัน “ลุ่มน้ำสงคราม” ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ รักษาระบบนิเวศหลากหลาย-สร้างรายได้ชุมชน

สิ่งแวดล้อม
25 ก.พ. 59
06:56
2,335
Logo Thai PBS
เร่งดัน “ลุ่มน้ำสงคราม” ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ รักษาระบบนิเวศหลากหลาย-สร้างรายได้ชุมชน
จังหวัดนครพนม WWF ประเทศไทย เร่งผลักดัน “แม่น้ำสงครามตอนล่าง” ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) หวังให้แม่น้ำสายสุดท้ายที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและหล่อเลี้ยงชีวิตคนในลุ่มน้ำ

กว่า 20 ปีที่ ผ่องศรี อินทร์เสนลา ชาว ต.ท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ประกอบอาชีพขายปลาร้าและปลาส้ม เธอบอกว่า ปลาของที่นี่มีชื่อเสียง เพราะน้ำในแม่น้ำสงครามเป็นลักษณะน้ำหมุนเวียน มีเกลือธรรมชาติ ทำให้เนื้อปลาอร่อย หนังมัน และไม่มีกลิ่นคาว อีกทั้งการลงมือหาปลาด้วยตนเองยังช่วยเพิ่มกำไรจากการขายได้เป็นเท่าตัว สร้างรายได้ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน

“แม่น้ำมีปู ปลาให้เราได้อยู่ ได้ใช้ทำมาหากิน ส่งลูกเรียนจบปวช.2 คน” นางผ่องศรีกล่าว

 

คะณิตฐา ติยะบุตร ชาว ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บอกว่า รายได้หลักของเธอมาจากการขายปลาร้าและปลาส้ม โดยรับซื้อปลาที่ชาวบ้านหาได้จากแม่น้ำสงคราม ขั้นตอนการทำที่เน้นความสด สะอาด รวมทั้งเครื่องเทศ ทำให้ลูกค้าติดใจในรสชาติและมารับสินค้าถึงที่บ้านเพื่อนำไปขายต่อในตลาด

“แม่น้ำสงคราม” เป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 4,045,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มีความยาว 420 กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสายสำคัญและมีความยาวที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งเป็นแม่น้ำสายเดียวและสายสุดท้าย ที่ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ขวางกั้น เป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้านในชุมชนกว่า 1.45 ล้านคน

 

งานวิจัยไทบ้านระบุว่า แม่น้ำสงครามมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม (ป่าน้ำท่วม) และความหลากหลายของระบบนิเวศย่อย 28 ระบบ เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลา 124 ชนิด เช่น ปลาบึก ปลากระเบนแม่น้ำโขง และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลากระโห้ ปลาเอินฝ้าย นอกจากนี้ยังมีพรรณพืชในป่าทามที่ใช้ประโยชน์ถึง 208 ชนิด และนกไม่ต่ำกว่า 129 ชนิด

แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่หลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัจจัยที่หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญและผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน “แม่น้ำสงครามตอนล่าง” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) แห่งที่ 15 ของไทย

 

กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเอชเอสบีซี (HSCB) เป็นเวลากว่า 2 ปี เพื่อจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง ในพื้นที่ 39 หมู่บ้าน อ.ศรีสงคราม และ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

เคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ ว่า รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นความร่วมมือของชาวบ้าน เพราะความยั่งยืนของชุมชนไม่ได้มาจากรัฐ หรือภาคเอกชนเท่านั้น แต่ชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโครงการนี้จะดำเนินได้ตามเป้าหมาย ซึ่งทางธนาคารยังได้นำพนักงานเข้ามาเป็นอาสาสมัครร่วมกับชุมชน ทั้งการให้ความรู้ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า

 

ขณะที่ เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย คาดหวังว่า การขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นแรมซาร์ไซต์ จะสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านและเป็นภาคภูมิใจของจังหวัด รวมทั้งจะมีการขยายพื้นที่ป่าชุมชนให้คนไทยเข้าใจเข้าใจแรมซ่าไซต์มากขึ้น

นอกจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแล้ว ความร่วมมือจากชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จ

ด้าน โชคทวี นะคะจัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บอกว่า เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ซึ่งหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เช่น จัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแม่น้ำสงคราม (วังปลา) ระยะทางห้ามจับสัตว์น้ำ 500 เมตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากกรมประมงปีละ 100,000 ตัว

 

“ปริมาณปลาลดลงกว่าร้อยละ 30 จาก 10 ปีก่อน เมื่อน้ำหลากปลาจะมาวางไข่ตรงนี้ เพราะเป็นบ้านของมัน มีการห้ามทำประมงตลอดทั้งปี ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จะหาปลาเป็นอาชีพ แม่น้ำสงครามให้ชีวิตกับพี่น้องบ้านเรา หาปลาส่งลูกเรียน หากไม่มีการอนุรักษ์พันธุ์ปลาก็จะหมดไป ไม่รู้ลูกหลานจะได้ดูไหม” นายโชคทวีกล่าว

ส่วนทางอำเภอศรีสงคราม ได้สนับสนุนนโยบายโครงการ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลา อนุรักษ์พื้นที่ ไม่ให้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งขอให้เจ้าของโครงการชี้แจงข้อมูลที่รอบด้านกับชาวบ้าน เช่น การดูแลพื้นที่ไม่ให้เสื่อมโทรมและข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ว่ามีข้อขัดข้องหรือกระทบชาวบ้านอย่างไร เช่นเดียวกับทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม ที่ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ 33,000 ไร่

 

ขณะที่ ปรีชาญ สามารถ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม ระบุว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้าน หลายคนยังไม่เข้าใจว่า เมื่อมีโครงการแล้วจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนหรือไม่ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจชัดเจนว่า ชาวบ้านยังสามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ แต่ขอให้งดใช้สารเคมีเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การผลักดันให้ลุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเพิ่มเติม ก่อนส่งรายละเอียดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

 

ยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์น้ำจืด WWFประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดนครพนม ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการเสนอแม่น้ำสงครามตอนล่าง ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ พร้อมทั้งมอบหมายให้ทางโครงการไปหารือร่วมกับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อร่วมกำหนดขอบเขตของพื้นที่ และจัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนใน 6 ตำบล พื้นที่ดำเนินงาน 39 หมู่บ้าน ก่อนเสนอคณะกรรมการจังหวัดอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม หากทางจังหวัดเห็นชอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม จะทำหนังสือนำส่งข้อมูล แผนที่ และขอบเขตที่ขึ้นทะเบียน 33,000 ไร่ ไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอนุสัญญาแรมซาร์ไซต์

 

หลังจากนั้นจะมีการประชุมพิจารณาขอบเขตพื้นที่ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและให้ความเห็นชอบ ก่อนทำเรื่องไปที่สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ได้มีการเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 15 ของไทย ขณะที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมนำผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พื้นที่แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2 ของไทย เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่า การขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต แต่เป็นแนวทางในการพัฒนา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของโครงการ 33,000 ไร่ จะไม่ทับซ้อนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและไม่มีผลต่อเอกสารสิทธิ์ แต่ขอความร่วมมือในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เกษตรผสมผสาน และลดใช้สารเคมี

“สำหรับชุมชนที่อยู่ติดน้ำพวกเขาคิดว่าน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แท้จริงแล้วความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจืดมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของทุกๆ ชีวิต ไม่เพียงแต่ปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงอนาคต ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในป่า ริมน้ำ หรือแม้กระทั่งในเมือง ความอุดมสมบูรณ์ของพวกเขา ก็คือความอุดมสมบูรณ์ของพวกเราเช่นเดียวกัน ข้อมูลของแรมซาร์ พบว่าโลกสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปแล้วกว่าร้อยละ 64 ตั้งแต่ปี 2443 การอนุรักษ์และความเข้าใจในพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนและทุกภาคส่วน ควรใส่ใจร่วมกัน” นายยรรยงกล่าว

 

สำหรับประเทศไทยร่วมลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาแรมซาร์ไซต์ เป็นลำดับที่ 110 ของโลก ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ปัจจุบันไทยมีพื้นที่แรมซาร์ไซต์ 14 แห่ง พื้นที่รวม 2,515,165 ไร่ ได้แก่ พรุควนขี้เสี้ยน จ.พัทลุง บึงโขงหลง จ.หนองคาย ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ หนองบงคาย จ.เชียงราย พรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส หาดเจ้าไหม เกาะลิบง จ.ตรัง แหลมสน ปากแม่น้ำกระบุรี ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี อ่าวพังงา จ.พังงา กุดทิง จ.บึงกาฬ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช และ เกาะระ-เกาะพระทอง จ.พังงา

วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง