ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสทช.มั่นใจทีวีดิจิทัลยังไปรอด แนะผู้ประกอบการหาเอกลักษณ์ช่อง-สร้างความแตกต่าง

เศรษฐกิจ
25 ก.พ. 59
16:40
184
Logo Thai PBS
กสทช.มั่นใจทีวีดิจิทัลยังไปรอด แนะผู้ประกอบการหาเอกลักษณ์ช่อง-สร้างความแตกต่าง
กรรมการ กสทช. เผยทิศทางอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลปรับตัวดีต่อเนื่อง เม็โเงินโฆษณาโตขึ้นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ชี้ปี 59 ช่องแอนะล็อกเดิมแข่งขันแรง แนะช่องเรตติ้งน้อยสร้างเอกลักษณ์แตกต่างดึงคนดู

วันนี้ (25 ก.พ.2559) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการรับชมและโฆษณา โดยสิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีผู้ชมทีวีดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 18 เพิ่มเป็นร้อยละ 38

ส่วนจำนวนช่องที่มีผู้ชมมากที่สุด 10 อันดับแรก พบว่ามีช่องกลุ่มทีวีดิจิทัลอยู่จำนวน 7 ช่อง ส่วนมูลค่าโฆษณาในช่องทีวีดิจิทัล พบว่าเติบโตถึงร้อยละ 144 หรือประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท จากปี 2558 อัตราเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่กว่า 8,500 ล้านบาท ในขณะที่คุณภาพสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัล ขณะนี้ครอบคลุมแล้วร้อยละ 87 ของพื้นที่ให้บริการทั้งหมด และภายในเดือนมิถุนายนนี้จะครอบคลุมร้อยละ 90 ส่วนคูปองทีวีดิจิทัลที่ กสทช.แจก ขณะนี้แจกแล้วกว่าร้อยละ 80

พ.อ.นที ยังกล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปี 2559 ว่าผู้ประกอบการรายเก่าที่อยู่ในช่องแอนะล็อกเดิมจะแข่งขันกันเข้มข้นเพื่อดึงผู้ชมให้ยังอยู่กับช่องตัวเองให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันช่องที่มีเรตติ้งน้อย ต้องปรับเปลี่ยนด้วยการหาตัวตนหรือคาร์แรกเตอร์ของช่องให้มีความชัดเจน สร้างฐานผู้ชมที่เข้มแข็ง โดยเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ดีและตรงจุดผู้ชมจะสร้างกลุ่มผู้ชมของตนเองได้

ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการเสนอขอเลื่อนจ่ายค่างวดประมูลในงวดที่ 3 และขอไม่เก็บค่างวดประมูลที่เหลือ หากต้องการยกเลิกประกอบกิจการนั้น พ.อ.นที ระบุว่ายังไม่ขอให้ความเห็น แต่หากเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงก็จะต้องพิจารณา แต่เบื้องต้นเห็นว่าที่ผ่านมาก่อนประมูล ทุกบริษัทได้ส่งแผนงานประกิบกิจการให้ กสทช. ซึ่งทุกรายต่างประเมินตลาดและความเสี่ยงก่อนการประมูล รวมทั้งประเมินว่ากว่าที่บริษัทจะมีกำไรก็จะเข้าสู่ปีที่ 5 ดังนั้นในช่วงระยะนี้หากผู้ประกอบการรายใดปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดได้ และ กสทช.พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ต้องอยู่ในกรอบของข้อกฎหมาย ไม่ทำให้การแข่งขันเสียหายหรือบิดเบือนกลไกการตลาดจนทำให้รายใดรายหนึ่งไม่ได้ความเป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง