วันนี้ (26 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะจำเลยในคดีรับจำนำข้าว จะเข้ารับฟังการพิจารณาคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหตุให้รัฐสูญเสียนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวกับคดี เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแจ้งขอความร่วมมืองดแสดงความเห็น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างราบรื่น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยถึงประเด็นการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ไม่น่าจะกระทบต่อโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เนื่องจากตั้งใจจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ และพร้อมสนับสนุนตามขั้นตอน เพื่อความสงบเรียบร้อย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจต่อนานาประเทศ รวมถึงไม่ควรมีกลไกพิเศษใดขึ้นมาอีกในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศ
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ จำนวน 3 ปาก ประกอบไปด้วยนายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่จะให้ข้อเท็จจริงต่อศาล ในฐานะผู้รับรู้กระบวนการรับจำนำข้าวตั้งแต่ต้นทาง ไปยังปลายทางที่โรงสีข้าว
ขณะที่พยานอีกปาก คือ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีตคณะอนุกรรมการติดตามการตรวจสอบการระบายข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวของวุฒิสภาที่เคยลงพื้นที่ จ.พิจิตร ซึ่งได้ข้อมูลพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับการสั่งซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ที่จะทำให้กระบวนการรับจำนำข้าวเสียหาย
พยานที่สำคัญอีกปาก คือนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่เคยเปิดเผยข้อมูลตัวเลขต้นทุนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และชี้ว่ารัฐบาลขายข้าวต่ำกว่าต้นทุนแก่พวกพ้อง และนำมาขายต่อเอกชนในประเทศในราคาการขายข้าวส่งออกต่างประเทศราคากิโลกรัมละ 20 บาท โดยมีส่วนต่างจำนวน 10 บาทต่อกิโลกรัม และข้าวทุก 1 ล้านตันที่ขายจะมีกำไร 10,000 ล้านบาท และเชื่อว่าเม็ดเงินจำนวนนี้ไม่ได้เข้ารัฐ จึงเห็นว่ารัฐสร้างความเสียหายต่อกลไกของตลาดข้าวด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์เป็นนัดที่ 3 ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยตามข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการสืบพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยจะนานไปจนถึงช่วงเดือน พ.ย.นี้ เพราะร่วมทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว มีพยานที่จะขึ้นเบิกความมากถึง 56 คน