ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

28 ปี บนถนนสายสื่อมวลชน เมื่อ "สรยุทธ" ยุติบทบาท

สังคม
3 มี.ค. 59
20:33
713
Logo Thai PBS
28 ปี บนถนนสายสื่อมวลชน เมื่อ "สรยุทธ" ยุติบทบาท
"เย็นนี้ผมขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย" สรยุทธ สุทัศนะจินดาเลือกที่จะยุติบทบาทในเส้นทางสื่อมวลชนของเขาที่ยาวนานถึง 28 ปี ด้วยข้อความสั้นๆ บนอินสตาแกรมวันนี้ (3 มี.ค.2559) เมื่อเวลา 16.45 น.

สรยุทธประกาศเรื่องการยุติบทบาทของเขาไม่นานก่อนรายการ "เจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ" ที่เขาเป็นพิธีกรจะออกอากาศทางช่อง 3 ซึ่งในข้อความนั้นเขายังได้ขอบคุณครอบครัวช่อง 3 ขอบคุณแฟนข่าว ขอบคุณทุกกำลังใจ และลงท้ายว่า "จนกว่าเราจะพบกันใหม่"

นายสรยุทธเลือกที่จะยุติบทบาทลงเพียงสองวันหลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาให้นายสรยุทธและพวกมีความผิดในคดีทุจริตเงินค่าโฆษณาของ บมจ. อสมท โดยตัวเขาถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่เป็นสองวันที่เต็มไปด้วยแรงกดดันที่ถาโถมมาจากทุกทิศทาง ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ไปจนถึงคนในสื่อสังคมออนไลน์ ที่กดดันให้เขาพักงานหน้าจอจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด เพราะคำพิพากษาในคดีนี้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเขาและต้นสังกัด

ภายหลังจากที่นายสรยุทธประกาศยุติบทบาท นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้บริหารช่อง 3 ระบุว่า เคารพการตัดสินใจของนายสรยุทธ ขณะที่นายบริสุทธิ์ บูรณะสัมฤทธิ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3 ยืนยันว่ายังไม่พิจารณาหาใครมาแทน สำหรับรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" วันพรุ่งนี้ (3 มี.ค.2559) จะให้ทีมงานชุดเดิมดำเนินการไปก่อน

นายสรยุทธเริ่มอาชีพสื่อมวลชนเมื่อปี 2531 ด้วยการเป็นนักข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จากนั้นก็เติบโตขึ้นในสายงานนี้มาตลอด แต่ถือว่าเขา "แจ้งเกิด" ในหน้าจอทีวี เมื่อทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์ข่าวที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเป็นกำลังสำคัญ เมื่อ "เนชั่น แชนแนล" เปิดสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เขายิ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นจากการดำเนินรายการ "คุยคุ้ยข่าว" และ "ถึงลูกถึงคน" ทาง ช่อง 9 อสมท จากนั้นนายสรยุทธ ได้ย้ายสังกัดมาอยู่ช่อง 3 โดยมีรายการหลัก 3 รายการ คือ "เรื่องเล่าเช้านี้" , "เจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ" ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ และ "เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์"

องค์กรภาครัฐ-เอกชน แห่ถอดโฆษณา-ไม่ต่อสัญญา

การยุติบทบาทของนายสรยุทธ เกิดขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่าบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐบางแห่งแสดงจุดยืนว่าจะไม่สนับสนุนรายการที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ไร่ส้ม และนายสรยุทธ โดยการไม่ซื้อเวลาโฆษณาหรือไม่ต่อสัญญาซื้อเวลาโฆษณา

กลุ่ม ปตท.เปิดเผยว่าไม่ได้ถอดโฆษณาจากช่อง 3 ทั้งหมด แต่ไม่ลงโฆษณาในรายการที่บริษัท ไร่ส้ม ผลิตและล่าสุดได้ย้ายเวลาโฆษณา คลื่น 105.5 อีซี่เอฟเอ็ม ไม่ให้ตรงกับเวลาการถ่ายทอดเสียงรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ขณะที่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ไม่ต่อสัญญาโฆษณาในช่อง 3 หลังสิ้นสุดสัญญาเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมาและประกาศว่าไม่สนับสนุนผู้ที่มีพฤติกรรมทุจริต

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ เครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวว่า บริษัทไม่ได้ซื้อโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม และไม่มีแผนซื้อโฆษณาในอนาคต ส่วนบริษัทลูกขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแต่ละแห่ง ขณะที่บริษัทในเครือ อย่างบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นายบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร ยอมรับว่า ยังซื้อเวลาโฆษณาของช่อง 3 ตามปกติ เพราะไม่ได้มีความผิดร่วมกัน

นายอธิป พีชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล และร่วมต่อต้านทุจริต แต่รายละเอียดการลงโฆษณาในส่วนของบริษัทนั้นยังไม่ได้ตรวจสอบ ส่วนสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเตรียมเชิญสมาชิกในตลาดทุนมาหารือ เพื่อดำเนินการหลายมาตรการ ส่งเสริมธรรมาภิบาลในทุกบริษัทและแสดงจุดยืนการเป็นภาคีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น

นายปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.สต็อคทูมอร์โร มองว่า การสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือโครงสร้างธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีและจริยธรรม จะขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ได้

นอกจากภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ก็ไม่ต่อสัญญาการซื้อช่วงเวลาโฆษณากับบริษัท ไร่ส้ม มูลค่า 40 ล้านบาท หลังหมดสัญญาณในเดือนนี้

ขณะที่ ธ.ก.ส. ที่ลงโฆษณาในช่วงเกษตรฮอตนิวส์ งบประมาณ 20 ล้านบาท เมื่อหมดสัญญาแล้ว จะไม่พิจารณากลับไปซื้อโฆษณาอีก ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ได้ซื้อโฆษณาตามคำแนะนำของเอเยนซี่ และลงโฆษณาที่ช่อง 3 บางรายการ แจ้งต่อบริษัทเอเยนซี่ว่าไม่ประสงค์จะซื้อโฆษณาต่อ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกการโฆษณางานแสดงสินค้าต่างๆ ผ่านรายการที่นายสรยุทธเป็นผู้ดำเนินรายการ แม้จะเคยว่าจ้างมานานนับ 10 ปี แต่อาจเปลี่ยนไปลงโฆษณาในรายการอื่นๆ ของช่อง 3 แทน เช่น รายการเศรษฐกิจ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ กรณี "สรยุทธ" ก่อวิกฤตศรัทธาต่อสื่อมวลชน

วันนี้ (3 มี.ค.2559) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "สื่อตรวจสอบสังคม สังคมตรวจสอบสื่อ ความท้าทายบนเส้นทางจริยธรรม" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวถึงกรณีที่ผู้บริหารช่อง 3 ยืนยันให้นายสรยุทธดำเนินรายการตามปกติว่า ช่อง 3 อาจต้องการสื่อสารว่า หากคิดว่าสถานีนี้ไม่ดี ไม่มีจริยธรรมก็อย่าดู สิ่งนี้จึงเป็นการท้าทายพลังสังคมที่จะไม่ยอมรับในเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะขณะนี้เลยขั้นการทวงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบไปแล้ว

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า การกำกับดูแลสื่อด้วยกันเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจถูกตั้งคำถามว่า สื่อจะเกรงใจสื่อด้วยกันเองหรือไม่ ดังนั้นในการกำกับดูแลจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก รวมถึงตัวแทนภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่ไม่ใช่กรณีของนายสรยุทธ

นางสุวรรณา จิตประภัสส์ร ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลต่อวิกฤตความศรัทธาของผู้บริโภคต่อสื่อมวลชน แต่เชื่อมั่นว่าการตื่นตัว การรวมพลังของผู้บริโภค และทุกภาคส่วนในสังคม ที่ประกาศงดดู งดใช้ สินค้าที่สนับสนุนสถานีโทรทัศน์ และรายการที่มีคนทุจริตดำเนินรายการนั้น จะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้องค์กรสื่อตั้งผู้ตรวจภายในองค์กร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกันเองภายใน โดยไม่ให้องค์กรวิชาชีพสื่อต้องแบกรับภาระเรื่องนี้เพียงลำพัง

นอกจากนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีนายสรยุทธ และสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ด้วยการไม่สนับสนุนการดำเนินงานใดๆ ของทางสถานี จนกว่าจะมีการแสดงความรับผิดชอบ และเป็นตัวอย่างในมาตรฐานจริยธรรม ด้วยการให้นายสรยุทธ ยุติบทบาทหน้าจอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง