อุณหภูมิร้อนเย็นสามารถวัดค่าเป็นตัวเลขได้ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “บโรเมเตร” หรือเทอร์โมมิเตอร์ คือความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน ตีพิมพ์ลงในหนังสือจดหมายเหตุบางกอก หรือ The Bangkok Recorder จุลศักราช 1227 นำความรู้จากซีกโลกตะวันตกมาเผยแพร่ในสยามยุคปลายรัชกาลที่ 3 จดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ไม่เพียงเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยาม แต่ยังเป็นรากฐานงานสื่อสารมวลชนในไทย เริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงดำริให้ตีพิมพ์ประกาศหลายฉบับสื่อสารกับประชาชน เช่น “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าวิตก” ให้ข้อเท็จจริงชี้ให้ประชาชนเห็นว่าดาวหางเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ
พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผอ.พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย กล่าวว่า การออกสื่อสมัยนั้นเหมือนการเล่าข่าว คนไทยยังรู้หนังสือไม่มาก มีผู้รู้ไปเล่าต่อ ยังไม่มีหนังสือพิมพ์ที่เป็นหลักฐานแท้จริง จนมาถึงในยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 มีเจ้านายออกหนังสือมากขึ้น ก็เป็นที่นิยมอ่าน หนังสือพิมพ์สมัยนั้นพิมพ์ไม่มาก คนอ่านก็นำมาเล่าให้ประชาชนฟัง
จุดเริ่มต้นของสื่อสารมวลชนในไทย เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่ตอนนั้นสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ และมีบทบาทอย่างมากในเหตุการณ์สำคัญของโลก การทำหน้าที่ตีแผ่เรื่องราวทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสังคม จากคนนำสาส์นจึงได้รับการขนานนามว่า “ฐานันดรที่ 4” คำๆ นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในอังกฤษก่อนเผยแพร่ไปทั่วโลก
ด้วยสิทธิพิเศษที่ให้อำนาจสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชน ติดตามและสอบถามการทำงานของกษัตริย์และเหล่าขุนนางในรัฐสภา ทำให้ในอังกฤษเปรียบอาชีพนักข่าวว่ามีสถานะเป็นฐานันดรที่ 4 ปลายปากกาของสื่อมวลชน ยังมีส่วนสำคัญในขับเคลื่อนการเมืองในฝรั่งเศสจนนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา มีการเผยแพร่แนวคิดต่อต้านการใช้ทาสในสังคมอเมริกันหลายสิบปี ผ่านสื่อ The Liberator และ North Star จนมีการประกาศเลิกระบบทาสในที่สุด ความรับผิดชอบต่อคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ และตีแผ่ความจริง คือบทบาทของฐานันดรที่ 4 ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างทุกชนชั้นในสังคม
ผศ.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฐานันดรที่ 4 อยู่ตรงกลางระหว่าง 3 ฐานันดร ผู้ใช้อำนาจปกครองกับฐานันดรข้างล่าง คือ พ่อค้า ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวสวน ฉะนั้น หน้าที่ของฐานันดรที่ 4 ตอนนั้นมีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของฐานันดรข้างบน ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง และเป็นตัวเชื่อประสานระหว่างฐานันดรบนกับล่าง
ขณะที่นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผอ.พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย กล่าวถึงคำ "ฐานันดรที่ 4" ว่า แต่เดิมหมายถึงนักหนังสือพิมพ์ แต่ในปัจจุบันหมายถึงสื่อโทรทัศน์ วิทยุรวมเป็นสื่อสารมวลชนเข้ามาแทนที่
ปัจจุบันมีคำเปรียบเปรยสื่อว่าเป็นดังกระจกเงา ตะเกียง หรือยามเฝ้าประตู หากแต่จะด้วยความหมายใด หน้าที่หลักของสื่อมวลชนคือเป็นปากเสียงสะท้อนความจริง รักษาประโยชน์เพื่อส่วนรวม และที่สำคัญคือทำหน้าที่ด้วยความซื่อตรงต่อจรรยาวิชาชีพและจริยธรรม