ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวจะนะยื่นขอระงับรฟฟ.ชีวมวลโรงที่ 2 เผยโรง 1 ส่งผลกระทบอื้อทั้งกลิ่น-เสียง-น้ำเน่าเสีย

สิ่งแวดล้อม
10 มี.ค. 59
20:59
956
Logo Thai PBS
ชาวจะนะยื่นขอระงับรฟฟ.ชีวมวลโรงที่ 2 เผยโรง 1 ส่งผลกระทบอื้อทั้งกลิ่น-เสียง-น้ำเน่าเสีย
ชาวบ้านขุนตัดหวาย อ.จะนะ สงขลา ยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานขอคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 หลังพบว่าแห่งแรกส่งผลกระทบต่อชุมนุมหลายด้าน ทั้งกลิ่นเหม็นรุนแรง เสียงดัง และทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

วันนี้ (10 มี.ค.) เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า เครือข่ายรักขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา อบต .ขุนตัดหวาย และนายอำเภอจะนะ เพื่อขอระงับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 2 ในพื้นที่ตำบลขุนตัดหวาย โดยมีผู้ช่วยอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลานายอำเภอจะนะ เป็นผู้หนังสือร้องเรียนและรับฟังปัญหาข้อร้องเรียนของเครือข่าย

น.ส.ศศิธร เจริญศรี เครือข่ายรักขุนหวาย เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 1 ซึ่งมีเสียงดังในเวลากลางคืน มีการปล่อยน้ำเสียลงในคลองหรา คลองสำคัญของบ้านขุนตัดหวาย และจะมีกลิ่นเหม็นแสบจมูก ไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นสารเคมีหรือกลิ่นไม้ที่ทางโรงงานนำมากองทับถมกันเป็นจำนวนมาก คนที่อยู่ห่างโรงไฟฟ้าชีวมวลระยะทางประมาณ 1 กม. ได้รับกลิ่นรุนแรงมาก และล่าสุดจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 2 ในบริเวณใกล้เคียงกัน ผลกระทบก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ผลกระทบเพียงโรงเดียวก็จะทนไม่ไหวแล้วยังจะสร้างเพิ่มขึ้นอีก เพื่อขอระงับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 2 ในพื้นที่ต.ขุนตัดหวาย

 

ด้าน น.ส.โสภิดา ชัวชมเกตุ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้ยางพารา ขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่า ปัจจุบันได้เริ่มส่งผลกระทบกับชุมชนในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหากลิ่นเหม็นจากเศษไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ปัญหาเสียงดัง และน้ำเน่าเสียในแหล่งชุมชน

น.ส.โสภิดากล่าวอีกว่า ล่าสุดปี 2559 ชุมชนทราบว่า ได้มีการจัดซื้อที่ดินในบริเวณใกล้เคียง (ห่างจากโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร) ในพื้นที่หมู่ 7 ต.ขุนตัดหวายเช่นกัน เพื่อเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 ซึ่งการจัดการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สงขลาไบโอเพาเวอร์ จำกัด ทางชุมชนพิจารณาเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างแน่นอน และเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2559 ที่ผ่านมาทางบริษัท สงขลาไบโอเพาเวอร์ จำกัด มีการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ และความจำเป็นเรื่องความต้องการไฟฟ้าโดยรวม และข้อดีของการมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทางตัวแทนกลุ่มคนรักษ์ขุนตัดหวาย ได้สอบถามไปยังบริษัทดังกล่าว แต่มิได้คำตอบในหลายๆ ประเด็น เช่น ความจำเป็นหรือสาเหตุที่ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น 2 โรงในพื้นที่ตำบลเดียวกัน ไฟฟ้าขาดแคลนจริงหรือไม่ ปริมาณเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ (เศษไม้ยางพารา หรือไม้อื่นๆ) มีเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงหรือไม่ หากขาดแคลนเชื้อเพลิง การจัดการต่อไปจะทำอย่างไร ทางชุมชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีการลักลอบนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงด้วย แหล่งน้ำและระบบนิเวศในชุมชน เริ่มมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสื่อมโทรมจากการดำเนินการผลิตไฟฟ้าของโรงที่ 1 หากมีโรงที่ 2 เกิดขึ้น ผลกระทบดังกล่าวจะเพิ่มเป็นทวีคูณ

ดังนั้นชุมชนจึงเสนอให้ทางบริษัทดังกล่าว จัดการระบบนิเวศให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เช่นเดิมก่อนการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 ปริมาณฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ ส่งผลกระทบต่อชุมชน ถึงแม้ว่าทางโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 จะมีการตรวจวัดและรายงานผกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การกระทำดังกล่าวมีความถี่ในการตรวจวัด ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน ซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับกังการผลิตและผลกระทบที่ชุมชนได้รับ

 

น.ส.โสภิดากล่าวอีกว่า ภายหลังจากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง พบว่า ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันคือ หลังจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ไม่นานชาวบ้านก็เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองจำนวนมากทำให้ชาวบ้านหายใจติดขัด กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง ปัญหาเรื่องเสียง มีเสียงดังเป็นช่วงๆ ไกลกว่า 4 กม. ปัญหาการใช้น้ำ ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ประสบปัญหาเรื่องน้ำใช้ขาดแคลน จึงมีการขุดเจาะน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงกังวลว่าในอนาคตอันใกล้ ชาวบ้านอาจต้องซื้อน้ำใช้ เช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ก็เป็นได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่ชาวบ้านได้เริ่มสัมผัสด้วยตัวเอง สิ่งที่ชาวบ้านพบเจอยังรวมถึงเรื่องของความปลอดภัยในการคมนาคมที่มีรถบรรทุกจำนวนมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลเสียเพียงชาวบ้านในพื้นที่ตำบลขุนตัดหวายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน ดังนั้นขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล แห่งที่ 2 ของต.ขุนตัดหวาย ตามอำนาจหน้าที่ที่พอจะช่วยประชาชนในพื้นที่ที่มีผลกระทบโดยตรง

นายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอจะนะ กล่าวว่า การดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ทางโครงการโรงไฟฟ้าไม่เคยแจ้งทางอำเภอให้ทราบ เพราะกระบวนการนี้จบอยู่ที่การพิจารณาของสภาอบต. ซึ่งเป็นความลักลั่นของกฏหมาย แต่เมื่อเกิดปัญหาหรือผลกระทบทางอำเภอจะต้องเข้ามาดูแลจัดการ การตั้งโรงงานในชุมนเป็นเรื่องที่ดีคนในชุมชนได้มีงานทำแต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบของประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้มีการกว้านซื้อที่ดินใกล้โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์อีกหนึ่งแห่ง ด้วย เรื่องนี้ทางอำเภอจะส่งเรื่องไปยังจังหวัด พลังงานจังหวัดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง