วันนี้ (10 มี.ค.2559) นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศและนางดาวัลย์ จันทร์หัสดี ชาวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เข้าพบนายพิสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อเรียกร้องให้เสนอรัฐบาลยับยั้งการจ่ายเงินให้บริษัทกิจการร่วมค้าที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ งวดที่เหลือกว่า 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ น.ส.เพ็ญโฉม ยังเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตรวจสอบกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายของทีมทนาย เพราะมีการเปลี่ยนตัวทนายความในช่วงที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ทนายความเอกชนเข้ามาและนำไปสู่แพ้การคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เพื่อให้สะสางการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านอย่างเป็นระบบ
ภายหลังจากรับหนังสือแล้ว นายพิสิทธิ์ได้ชี้แจงว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ระงับการเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนจำนวน 9,600 ล้านบาทแล้ว หลังจากมีการจ่ายเงินงวดที่หนึ่งไปแล้ว 4,000 ล้านบาท เพราะในกรณีนี้ศาลอาญาได้ตัดสินว่าอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษมีความผิดกรณีนำที่ดินสาธารณะมาขายเพื่อก่อสร้างโครงการไปแล้ว รัฐจึงไม่ควรจ่ายเงินค่าเสียหายอีก
"ประเด็นการจ่ายเงินให้บริษัทกิจการร่วมค้า 5 บริษัท เมื่อเร็วๆ นี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือถึงนายกฯ ให้ใช้วิธีการหักกลบลบหนี้กับกิจการร่วมค้าฯ เนื่องจากในการดำเนินโครงการนี้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ และกิจการร่วมค้าน่าจะมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจากการพิพากษาของศาลอาญาเมื่อ 17 ธ.ค.2558 ให้จำคุกอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกคนละ 20 ปี ในฐานทุจริตต่อหน้าที่เอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือผู้รับเหมาในการทำโครงการนี้"
นายพิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอาญาว่าอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กิจการร่วมค้าฯ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาซึ่งเท่ากับว่ามีการทำละเมิดเกิดขึ้น มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่รัฐ 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ละเมิดก็ต้องถือว่ารัฐบาลเป็นเจ้าหนี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาตามอนุญาโตตุลาการที่พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหาย 9,000 กว่าล้านบาท กรณีนี้ก็เท่ากับว่ารัฐบาลและกิจการร่วมค้าเป็นลูกหนี้-เจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน รัฐบาลเป็นเจ้าหนี้ละเมิด 20,000 กว่าล้านบาท ขณะเดียวกันก็เป็นลูกหนี้ 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่าหักกลบหนี้กันได้ ทางผู้รับเหมาก็ต้องจ่ายเงินให้กรมควบคุมมลพิษ 10,000 กว่าล้านบาท
ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าวย่อมเป็นเหตุทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่ควรจะจ่ายเงินที่เหลืออีก 5,000 - 6,000 ล้านบาทที่จะถึงในประมาณเดือน พ.ค.นี้ หรือหากรัฐบาลไม่แน่ใจ รัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษอาจนำเงินไปวางทรัพย์ที่กระทรวงยุติธรรม และเมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดแล้วศาลพบว่ามีการกระทำผิดและละเมิดจริง กรมควบคุมมลพิษก็สามารถรับเงินกลับคืนมาและเรียกร้องเงินค่าเสียหายที่เป็นส่วนต่างอีก 10,000 กว่าล้านบาทได้และให้รอคำพิพากษาของศาลฎีกา
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาทในพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการตั้งแต่ปี 2539 ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้ยกเลิกโครงการและบริษัทเอกชนได้ฟ้องร้องต่อศาล กระทั่งปี 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทเป็นเงิน 9,600 ล้านบาท