วันนี้ (15 มี.ค.2559) น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีนักบินจำนวน 2,500-3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน ขณะที่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200-300 คน
สำหรับกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน ซึ่งในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรวิศวกรรมการบินได้เพียง 300-400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี สำหรับสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน เฉพาะนักบินผลิตได้ 100-120 คน
น.อ.จิรพล กล่าวว่า จำนวนนักบินในปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้ทางสถาบันการบินพลเรือนเร่งผลิตบุคลากร เพื่อรองรับอุตสหกรรมการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจะมีการเปิดวิทยาเขตที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งจะสามารถผลิตบุคลากรนักบินให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายว่าจะเริ่มต้นโครงการเมื่อใด
ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการและผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า สายการบินนกแอร์ได้แจ้งมายัง กพท. ว่าจะต้องดำเนินการยกเลิกเที่ยวบินไป-กลับวันละประมาณ 60 เที่ยวบิน จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และจะดำเนินการให้สายการบินพันธมิตรทำการบินแทนด้วยเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) เนื่องจากนักบินยังขาดแคลนและบางเที่ยวบินผู้โดยสารจองไม่มาก จึงได้ทำการยุบรวมเที่ยวบิน
สำหรับเที่ยวบินในช่วงเดือน เม.ย.นี้ หากสายการบินนกแอร์ยังไม่สามารถหานักบินมาเพิ่มได้ คงต้องปรับลดเที่ยวบินลงเล็กน้อย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแจ้งล่วงหน้ามายัง กพท. อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดในทุกสายการบินส่งตารางเที่ยวบินช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เพื่อลดผลกระทบการเดินทางของผู้โดยสารในช่วงเทศกาล
ส่วนการตรวจสอบชั่วโมงการบินของนักบิน 14 สายการบินที่ทำการบินในประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ของ กพท.ที่มีความเชี่ยวชาญจำนวน 16 คน ซึ่งคาดว่าประมาณสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จะทราบผลการตรวจสอบ