ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สนามบินสุวรรณภูมิยกเลิกแผนฉุกเฉิน หลังตรวจสอบไม่พบสิ่งต้องสงสัยในเที่ยวบิน "แอร์อินเดีย"

อาชญากรรม
17 มี.ค. 59
06:37
364
Logo Thai PBS
สนามบินสุวรรณภูมิยกเลิกแผนฉุกเฉิน หลังตรวจสอบไม่พบสิ่งต้องสงสัยในเที่ยวบิน "แอร์อินเดีย"
วันนี้ (17 มี.ค.2559) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประกาศยกเลิกแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์แอร์อินเดียถูกขู่วางระเบิดแล้ว หลังจากการตรวจสอบเที่ยวบินแอร์อินเดียที่ถูกขู่วางระเบิดไม่พบสิ่งต้องสงสัย

นางฉฏาณิศา ชำนาญเวช รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 2) รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับแจ้งจากหอบังคับการบินว่า เที่ยวบิน AI 332 เส้นทางนิวเดลี-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ของสายการบินแอร์อินเดีย ถูกขู่วางระเบิด โดยเที่ยวบินดังกล่าวตามตารางการบินมีกำหนดเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในเวลา 19.20 น. ของวันที่ 16 มี.ค.2559 พร้อมด้วยผู้โดยสาร 231 คนและลูกเรือ 10 คน นั้น ทสภ. ได้ดำเนินการตามแผนฉุกเฉิน บทที่ 9 กรณีการขู่วางระเบิดอากาศยาน (Bomb threat on aircraft) ในทันที

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบอากาศยาน ผู้โดยสาร สัมภาระและสินค้าบนเครื่องแล้ว ปรากฏว่า ไม่พบวัตถุต้องสงสัยที่เป็นวัตถุระเบิดแต่อย่างใด ทสภ. จึงได้มีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเวลา 00.15 น. ของวันที่ 17 มี.ค.2559 จากนั้นจึงได้นำผู้โดยสารผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่จะให้ผู้โดยสารรับกระเป๋าและสามารถเดินทางออกจาก ทสภ. ได้ตามปกติ

นางฉฏาณิศากล่าวว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้มีการอพยพผู้โดยสารลงจากเครื่องโดยใช้รางเลื่อนหนีภัย (Slide Raft) จึงทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการสไลด์ตัวจำนวน 42 คน ซึ่งหน่วยแพทย์ ทสภ. ได้ทำการปฐมพยาบาลให้เรียบร้อยแล้ว และมีผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บปานกลางต้องนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอก อันเป็นผลมาจากโรคหัวใจซึ่งเป็นโรคประจำตัวจำนวน 1 คน

รอง ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวสามารถผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของ ทสภ. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งจากส่วนงานภายใน ทสภ. เจ้าหน้าที่สายการบินแอร์อินเดีย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยาน หากเกิดกรณีมีการขู่วางระเบิดอากาศยาน ทุกหน่วยสามารถประสานการปฏิบัติงานแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว และกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยานน้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ และอากาศยานเป็นสำคัญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง