เรือนไม้เก่าอายุราว 200 ปี โดดเด่นด้วยจั่วใบปรือ ยืนยาวมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ถูกถ่ายทอดด้วยภาพวาดสีน้ำ จากปลายแปรง "วนนท์ รักษ์ศิริพงษ์" อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมในนาม BANGKOK SKETCHERS เพื่อบันทึกเรื่องราวชุมชนป้อมมหากาฬ นอกไปจากบ้านเรือนเก่ายังเต็มไปด้วยเสน่ห์วิถีชีวิตของผู้คน หากแต่ภาพเหล่านี้อาจเหลือเพียงความทรงจำเพราะกรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้ชาวบ้านย้ายจากพื้นที่ในสิ้นเดือนนี้
ตัวอาคารที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักวาดภาพที่มาสเก็ตรูปกันในกิจกรรมวันนี้ คือ บ้านโบราณของหมื่นศักดิ์แสนยากร ที่เชื่อว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 หลายคนมาตรงนี้เป็นครั้งแรก ก็อาจไม่เคยทราบว่ามีชุมชนซ่อนตัวอยู่หลังกำแพง ซึ่งการแยกชุมชนออกจากโบราณสถาน ก็อาจทำให้สิ่งก่อสร้างเหล่านี้เหลือเป็นเพียงพื้นที่ที่ไม่มีชีวิต
บรรยากาศร่มรื่นริมคลองโอ่งอ่าง เสน่ห์ของชานพระนครมีคลองขนาบกำแพงเมือง ในอดีตที่นี่คือจุดแวะพักจอดเรือขนถ่ายสินค้า ก่อนเกิดเป็นย่านอาศัยของผู้คนหลากหลาย ในวันที่บ้านเมืองเปลี่ยนไปด้วยเหตุผลการพัฒนา ย่านเก่าเริ่มหาย เช่นเดียวกับชุมชนชานพระนคร เช่น ป้อมมหากาฬ วิถีวันวานที่เต็มไปด้วยชีวิตจากนี้อาจเหลือเพียงความทรงจำ หลังการต่อสู้ยาวนานถึง 24 ปี เพื่อย่านอาศัยที่อยู่กันมาหลายชั่วคน
"กำแพงไม่สามารถบ่งบอกจากอดีตกลับมาสู่ปัจจุบันได้ จะต้องอาศัยชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นซากที่ฝังอยู่ในโบราณสถาน นั่นคือซากของประวัติศาสตร์เพื่อบ่งบอกจากอดีตจนมาปัจจุบัน พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬได้รักษาหน้าประวัติศาสตร์และถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น" ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
ป้อมค่ายรอบพระนคร คือหลักฐานเมืองเก่ามาตั้งแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จนวันนี้เหลือร่องรอยเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ โดยป้อมมหากาฬเป็นเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลือร่องรอยวิถีชีวิตของคนย่านเก่าคู่ชุมชน หากแต่ในเวลาอันใกล้ ชาวป้อมต้องย้ายจากบ้านที่อยู่กันมาเนิ่นนาน เพื่อให้กรุงเทพมหานคร ปรับพื้นที่เป็นสวนสาธารณะอีกแห่งในเขตพระนคร